“ประวิตร” ไฟเขียวทบทวนแผนแม่บทบริหารน้ำ 20 ปี เพิ่มแหล่งเก็บน้ำชุมชน แก้ปมท่วม-แล้ง พัฒนาโคกหนองนาโมเดล เพื่อเพิ่มแหล่งน้ำสำรอง เร่งศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กอนช.ย้ำประกาศเตือนพื้นที่ภาคใต้ฝนตกหนัก 11-15 พ.ย. เฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำใหญ่เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ บริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ระนอง กระบี่ ภูเก็ต และตรัง
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2564 โดยมี นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค เป็นต้น เข้าร่วมประชุม ว่า ขณะนี้รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ทั้ง 6 ด้าน ให้บรรลุผลตามเป้าหมาย เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
โดยผลการดำเนินงานและผลสัมฤทธิ์ตามแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน มีแผนงานโครงการที่มีความก้าวหน้าการดำเนินงานเกิน 80% ของแผน อาทิ การพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ชะลอน้ำ 13 แห่ง คิดเป็น 100% การเพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้าน 4,675 แห่ง คิดเป็น 85% และมีแผนงานโครงการที่มีความก้าวหน้าเกิน 30% อาทิ การพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 118 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 64% การพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำ อาคารบังคับน้ำ ระบบส่งน้ำใหม่ 393 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 34% และลดการชะล้างพังทลายของดิน ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ 80,308 ไร่ คิดเป็น 33% และในพื้นที่เกษตรนอกพื้นที่อนุรักษ์ 367,900 ไร่ คิดเป็น 37%
อย่างไรก็ตาม พบว่ามีแผนงานที่ยังมีความล่าช้า เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพแหล่งน้ำ ระบบส่งน้ำเดิม การอนุรักษ์ฟื้นฟูพัฒนาแหล่งน้ำพื้นที่เกษตรน้ำฝน ระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง เป็นต้น โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางในการปรับปรุงขับเคลื่อนแผนแม่บทน้ำ 20 ปี และให้ สทนช.ดำเนินการผ่านคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทน้ำ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาและทบทวน ปรับปรุงแนวทางการดำเนินงาน เป้าหมาย ตัวชี้วัดที่จะดำเนินการในระยะต่อไป รวมถึงใช้ระบบติดตามประเมินผลด้านน้ำของประเทศไทย (Thai Water Assessment : TWA) เป็นเครื่องมือในการติดตามประเมินผลโครงการด้านทรัพยากรน้ำ โดยให้หน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เริ่มรายงานผลการดำเนินงานและผลสัมฤทธิ์ของโครงการด้านแหล่งน้ำผ่านระบบตั้งแต่เดือน ธ.ค. 64 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับปรุงกรอบแนวทางแผนแม่บทน้ำ 20 ปี ช่วงปี 2566-2580 โดยเฉพาะแหล่งน้ำตามครัวเรือน เพื่อสำรองน้ำใช้ในฤดูแล้ง บูรณาการการพัฒนาแหล่งน้ำกับแผนที่เกษตร (Agri-Map) พัฒนาโคกหนองนาโมเดล เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรอง และใช้กักเก็บน้ำเพื่อลดปัญหาอุทกภัย รวมถึงเร่งศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อประกอบการปรับปรุงแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยที่ประชุมมอบหมายให้หน่วยงานรายงานปัญหาอุปสรรคการดำเนินการขับเคลื่อนที่ผ่านมาให้ สทนช.ทราบ ภายในเดือน ธ.ค. 64 รวมทั้งให้ทุกหน่วยงานสนับสนุนข้อมูลในการปรับปรุงแผนแม่บทน้ำ 20 ปี เพื่อให้มีความครบถ้วน และครอบคลุมทุกมิติ
ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช.กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้ติดตามการดำเนินงาน ตามข้อสั่งการของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชน และการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน การดำเนินการเตรียมการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำเสีย และการสำรวจพื้นที่แหล่งน้ำบาดาลสะอาดที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายแผนแม่บทน้ำ 20 ปี โดยเร็วด้วย โดยรองนายกฯ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินการตามข้อสั่งการมายัง สทนช. และรายงานต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ต่อไป
สำหรับกรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศ ฉบับที่ 5 (187/2564) ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 คาดการณ์ในช่วงวันที่ 10 – 13 พฤศจิกายน 2564 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้มีประกาศแจ้งเตือน ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (ONE MAP) เน้นย้ำให้เฝ้าระวังในช่วงวันที่ 11 – 15 พฤศจิกายน 2564 ดังนี้
1. เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากบริเวณที่ลาดเชิงเขา บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
2. เฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ บริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ระนอง กระบี่ ภูเก็ต และตรัง
3. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำตาปี อำเภอพระแสง อำเภอเวียงสระ อำเภอเคียนซา และอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี บริเวณคลองท่าดี อำเภอลานสกา อำเภอพระพรหม และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช และคลองชะอวด ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ และอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ทะเลสาบสงขลา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา แม่น้ำปัตตานี อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา และอำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี และแม่น้ำโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส