ภูมิภาค
อำเภอจุฬาภรณ์ จัดกิจกรรม “กางเต็นท์ เล่นว่าว เล่าเรื่อง เมืองจุฬาภรณ์”
วันเสาร์ ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564, 10.56 น.
คลิกที่นี่
ที่บ้านทุ่งนาหยี หมู่ที่ 3 ตำบลสามตำบล อำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช นายสมพงษ์ มากมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานพิธีเปิดโครงการอนุรักษ์ประเพณีการเล่นว่าว “กางเต็นท์ เล่นว่าว เล่าเรื่อง เมืองจุฬาภรณ์”ครั้งที่ 23 ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลสามตำบล ร่วมกับชมรมคนรักว่าวอำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกันจัดกิจกรรมขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 มีนาคม 2564 ที่บ้านทุ่งนาหยี หมู่ที่ 3 ตำบลสามตำบล โดยเป็นการจัดแข่งขันว่าวประจำปี 2563 ทั้งนี้เพื่อร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีการเล่นว่าวให้อยู่คู่กับท้องถิ่นอำเภอจุฬาภรณ์ รวมทั้งเพื่อเป็นการขับเคลื่อนงานชุมชนการเปิดบ้านวังฆ้องสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมประเพณี ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนในพื้นที่และใกล้เคียงเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้จากข้อมูลของนักเล่นว่าว พบว่าปัจจุบันมีการแบ่งว่าวออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วยว่าวแผง คือว่าวที่ไม่มีความหนา มีแต่ส่วนกว้าง และส่วนยาว ตัวอย่างเช่น ว่าวจุฬา ปักเป้า อีลุ้ม หรือว่าวรูปสัตว์ ต่างๆ และว่าวภาพ คือว่าวที่ประดิษฐ์ให้มีลักษณะพิเศษเพื่อแสดงแนวคิด ฝีมือในการประดิษฐ์ ซึ่งแบ่งเป็นประเภทย่อยได้ 3 ชนิด คือ ว่าวประเภทสวยงาม ว่าวประเภทความคิด และว่าวประเภทตลกขบขัน โดยว่าวแผงเท่านั้นที่นิยมนำมาคว้าหรือแข่งขันกัน ส่วนว่าวภาพจะทำสำหรับชักขึ้นอวดรูปร่างว่าวมากกว่าและนิยมชักให้ลอยนิ่งอยู่ในอากาศให้คนชม ทั้งนี้ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ของภาคใต้จะนิยมเล่นว่าวกันจำนวนมาก มีว่าวที่มีรูปแบบต่าง ๆ กัน เช่น ว่าวนก ว่าวนกปีกแอ่น ว่าวนกยูง ว่าวปลาวาฬ ว่าวปลาปีกแอ่น ว่าวควาย ว่าวใบยาง และว่าวกระป๋อง หรือว่าวกระดาษ และมักนิยมติดแอกหรือที่เรียกกันว่าสะนู หรือธนู ไว้ที่ส่วนหัวของว่าวด้วย
คลิกที่นี่