“ส.ส.พปชร.”เร่งช่วยเหลือชาวบ้าน 1.2 หมื่นครัวเรือน พื้นที่ 3 อำเภอ จ.นครศรีธรรมราช หลังได้รับผลกระทบปัญหาภัยแล้ง เบื้องต้นประสานกรมชลประทาน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ พร้อมเร่งดำเนินการแผนบริหาจัดการน้ำระยะกลาง และระยะยาว ช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
ศุกร์ที่ 26 มีนาคม 2564 เวลา 17.02 น.
เมื่อวันที่ 26 มี.ค. นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.นครศรีธรรมราช รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า ในเดือน มี.ค.-พ.ค.นี้ ประชาชนในพื้นที่ 3 อำเภอ ของ จ.นครศรีธรรมราช คือ อ.เชียรใหญ่ อ.หัวไทร และอ.ปากพนัง ต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งเป็นประจำทุกปี ล่าสุดตนได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว พบว่า ขณะนี้มีประชาชนประมาณ 12,000 ครัวเรือน เบื้องต้น ตนได้ประสานไปยัง กรมชลประทาน โดย นายพิทักษ์พงษ์ ติ๊บแก้ว ผอ.โครงการชลประทานนครศรีธรรมราช ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ได้รับผลกระทบแล้ว จำนวน 28 หมู่บ้าน 13 ตำบล 3 อำเภอ เพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำใช้อุปโภค-บริโภค และน้ำใช้เพื่อการเกษตร ในระยะเร่งด่วนก่อน นอกจากนี้ตนยังได้ประสาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเร่งทำฝนหลวงเติมน้ำให้กับพื้นที่ 3 อำเภอดังกล่าว
นายสัณหพจน์ กล่าวต่อว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ได้ดำเนินการตามนโยบายการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ โดยในระยะกลางกำหนดให้มีการขุดคลองชะอวด-แพรกเมือง และแม่น้ำเชียรใหญ่-ปากพนัง ตลอดเส้นทางตามโครงการพระราชดำริ เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการกักเก็บน้ำ ไว้ใช้ในฤดูแล้ง และระบายน้ำในฤดูน้ำหลาก ขณะที่ระยะยาว ได้แก่ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองสังข์ อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช โดยมีพื้นที่ประมาณ 4,600 ไร่ ที่อยู่ในระหว่างการเวนคืนที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 และจัดหาที่ทำกินใหม่ให้กับประชาชนในพื้นที่ จำนวน 1,000 ไร่ ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร ได้มอบหมายให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามโครงการ และเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการดังกล่าวแล้ว
อย่างไรก็ตาม หากโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ในระยะกลาง และระยะยาวเสร็จสมบูรณ์ ตนเชื่อว่าพี่น้องประชาชนในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช จะได้รับประโยชน์ทั้งในเรื่องของการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำไม่เพียงพอในพื้นที่การเกษตร และการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างเป็นรูปธรรม และยั่งยืน.
คุณเห็นด้วยกับข่าวนี้หรือไม่
-
เห็นด้วย
100%
-
ไม่เห็นด้วย
0%