10 รัฐมนตรีพรรครัฐบาล 10 ข้อกล่าวหาของพรรคพันธมิตรฝ่ายค้านกลายเป็น “ความผิดลหุโทษ” เมื่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 1 นายกฯ และ 9 เสนาบดี จาก 3 พรรคการเมือง “มะรุมมะตุ้ม” กันทั้งในสภา-ทำเนียบ และพรรคการเมือง
พรรคพลังประชารัฐ-พรรคประชาธิปัตย์-พรรคภูมิใจไทยขบเหลี่ยม-งัดข้อ เปิดศึกไม่ไว้วางใจกันเอง ก่อนระฆังศึกซักฟอกจะดังระงม-ล็อกวัน ว. เวลา น. เบื้องต้น 16-20 กุมภาพันธ์ 2564
พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แหกกฎ “มารยาททางการเมือง” ส่ง “อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ” อดีต ส.ส.สอบตก ลงเลือกตั้งซ่อมเขต 3 นครศรีธรรมราช ล้างตาประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ส่งให้ “พงศ์สินธุ์ เสนพงศ์” น้องชายนายเทพไท ลงเป็น “มวยแทน”
ศึกในพรรคร่วม-เลือกตั้งซ่อมเมืองคอน เกิดเป็นความ “ร้าวลึก” ระหว่างพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์ให้กินแหนง-แคลงใจ ออกสู่สายตาโลกภายนอกให้เห็น “สัจธรรม” ของคนการเมืองว่า “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร” ไม่เว้นกระทั่ง “หัวหน้าพรรคกับหัวหน้าพรรค” ที่ไฟต์กันเองจนเป็นข่าวรายวันทั้งออฟไลน์-ออนไลน์ บวกกับ “ลูกพรรค” ของ 2 พรรคที่ออกมา “ตะลุมบอน” กันไป-มา พ่นสงครามน้ำลาย
“จุดแตกหัก” สาเหตุทำให้พลังประชารัฐ “หักดิบ” ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งเขต 3 นครศรีธรรมราช คือ การทำหน้าที่ของนายเทพไทที่ผ่านมาสร้างความ “กระด้างกระเดื่อง” ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ มาโดยตลอด
นอกจากนี้ “เล่นบท” เป็น “ฝ่ายค้านในรัฐบาล” เป็นเสียงข้างน้อย-โหวตสวนมติพรรค-พรรคร่วมรัฐบาลอยู่เป็นนิตย์ ทั้งในสภาและนอกสภา
นายเทพไทยังใช้ “เอกสิทธิ์” ที่จะ “ไม่รักษามารยาททางการเมือง” ในการอยู่ร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาล คอย “เห็นต่าง” จากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไลฟ์สดตามร้านตลาด-สภากาแฟทุกวันหยุดสุดสัปดาห์
แกนนำพรรคพลังประชารัฐคงต้องดีดลูกคิด-ประเมินต้นทุนและรายจ่ายจากความบาดหมาง-บานปลาย ซึ่งจะนำไปสู่ขั้น “แตกหัก”
เลวร้ายที่สุด-เป็นรูปธรรมที่สุด คือ “เรือแป๊ะ” ล่ม-จมลึกกลางมหาสมุทรอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ถึง 264 ชั่วโมง
อีกคู่ที่โคจรมาชนกัน ระหว่างรัฐมนตรีโควตาพิเศษ-บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กับ “บ้านใหญ่บุรีรัมย์” ค่ายภูมิใจไทย ที่มี “นักธุรกิจขาใหญ่” แห่งอาณาจักรรถไฟฟ้าหลากสีมีส่วนได้-ส่วนเสีย
แม้ “บิ๊กป๊อก” จะเหยียบเมฆไร้ร่องรอย-ลอยตัวเหนือปัญหา แต่ปฏิเสธได้ยากในฐานะ “เจ้าของเรื่อง” โปรเจ็กต์ขยายสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปี จากเดิมที่จะสิ้นสุดในปี 2572 เป็นสิ้นสุดในปี 2602 ให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS พ่วง “ยกหนี้” ให้กับกรุงเทพมหานคร (กทม.)
เมื่อ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ในฐานะ “เจ้ากระทรวง” ยังไม่ได้รับคำตอบที่น่าพอใจจาก กทม.- BTS
และยังมีเรื่องค้าความ-คดีคาอยู่ในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
มหากาพย์ต่อสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจึง “ค้างเติ่ง” อยู่ในสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เป็น “สายล่อฟ้า” ในสมรภูมิซักฟอก เสียวไส้ทั้ง “เจ้าของเรื่อง” และ “เจ้าของกระทรวง”
ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ต้อง “ล้มประมูล” ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษากรณี BTS ร้องศาลปกครองขอรื้อเกณฑ์การประมูล (TOR) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจะออกหัว-ออกก้อย
การล้มประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ถูกนำมาผูก-โยงกับการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมีความไม่ลงรอยกันทางผลประโยชน์ใน “ธนกิจการเมือง”
เนื่องจากเป็นการดำเนินการโครงการ (รถไฟฟ้าสายสีเขียว) ในช่วงรอยต่อ-เปลี่ยนผ่านจากยุครัฐบาลทหาร-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ถึงแม้มี “พล.อ.ประยุทธ์” นั่งหัวโต๊ะทั้งในยุคที่มี “อำนาจเต็มมือ” และในยุครัฐบาลผสมหลายพรรค แต่ใช่ว่าจะสามารถคุมเกมได้ตลอดทั้งกระบวนการ
ยิ่งเป็น “ครม.ผสม 5 พรรค” กับอีก “ครม.โควตาพิเศษ” ที่แต่ละขั้ว แต่ละพรรค มีนายหน้า-นายทุนเป็นของตัวเอง ซึ่งล้วนแล้วเกี่ยวดองกับสัญญา-สัมปทานโครงการรัฐมูลค่านับแสนล้าน
ยิ่งทำให้การเดินหมาก-แก้เกมในห้องประชุม ครม.ที่ต้องอนุมัติงบประมาณ-โครงการมูลค่ามหาศาลสลับซับซ้อนมากขึ้น
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์-นายทหารเสือราชินี ถูกยื่นญัตติไม่ไว้วางใจในความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยการ “ตีความใหม่” ของพรรคฝ่ายค้าน ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลุกขึ้นตอบ
“ทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน นำสถาบันเป็นข้ออ้างเพื่อแบ่งแยกประชาชน แอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะปิดบังความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของตนเอง”
เป็นประเด็นแหลมคมที่สุด และ “พล.อ.ประยุทธ์” คงคาดไม่ถึง