ปภ. แจ้งเตือน 4 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย เฝ้าระวังและเตรียมรับมือสถานการณ์ “คลื่นลมแรง” ช่วงวันที่ 24-26 ธันวาคม 2565
วันที่ 23 ธันวาคม 2565 เวลา 16.30 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีประกาศฉบับที่ 1 (359/2565) ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2565 เวลา 11.00 น. แจ้งว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน มีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง
โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนคลื่นสูงประมาณ 2 เมตรและทะเลอันดามัน ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรงระหว่างวันที่ 24 – 26 ธันวาคม 2565 ดังนี้
ภาคใต้ 4 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (อ.เมืองฯ ขนอม สิชล ท่าศาลา ปากพนัง หัวไทร เชียรใหญ่) , สงขลา (อ.เมืองฯ ระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ สิงหนคร จะนะ เทพา) , ปัตตานี (อ.เมืองฯ หนองจิก ยะหริ่ง ปะนาเระ สายบุรีไม้แก่น) และนราธิวาส (อ.เมืองฯ ตากใบ)
สำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะห้ามลงเล่นน้ำและประกอบกิจกรรมทางทะเลในช่วงที่คลื่นลมแรง หรือติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน THAI DISASTER ALERT รวมถึงสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” รวมถึง สายด่วนนิรภัย 1784 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง – อากาศหนาวถึงหนาวจัด – น้ำทะเลหนุนสูง
พื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง
ภาคใต้ จ.พัทลุง (อ.เมืองฯ เขาชัยสน ปากพะยูน ควนขนุน) สงขลา (อ.หาดใหญ่ บางกล่ำ ระโนด สิงหนคร สะบ้าย้อย สทิงพระ เทพา กระแสสินธุ์ สะเดา) ปัตตานี (อ.เมืองฯ ยะหริ่ง มายอ ยะรัง หนองจิก สายบุรี ไม้แก่น โคกโพธิ์ ทุ่งยางแดง แม่ลาน) ยะลา (อ.เมืองฯ) และนราธิวาส (อ.เมืองฯ ระแงะ สุไหงปาดี สุไหงโก-ลก ตากใบ)
พื้นที่เฝ้าระวังอากาศหนาวถึงหนาวจัด
ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย สกลนคร และนครพนม
พื้นที่เฝ้าระวังคุณภาพอากาศ (PM 2.5) ข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ เวลา 17.00 น. ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครพนม (อ.เมืองฯ)
ภาคกลาง จ.อ่างทอง (อ.เมืองฯ) สุพรรณบุรี (อ.เมืองฯ) และกรุงเทพมหานคร (เขตบางขุนเทียน จอมทอง บางพลัด ทุ่งครุ ยานนาวา บางนา ดอนเมือง ประเวศ ธนบุรี คลองสาน ตลิ่งชัน บางบอน ทวีวัฒนา หนองแขม)
พื้นที่เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณปากแม่น้ำ และพื้นที่ราบลุ่มชายฝั่ง
ภาคกลาง จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และกรุงเทพมหานคร
ภาคใต้ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล