ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล
|
14 พ.ย. 2564 เวลา 13:15 น.
นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. ค้นพบพืชในวงศ์กระดังงา 10 ชนิดใหม่ของโลก และตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติแล้ว ชี้ว่าพื้นที่ภาคใต้ของไทยมีความหลากหลายทางพันธุศาสตร์สูง การค้นพบเพิ่มเติมช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ฐานข้อมูลพรรณพืชไทย
รศ. ดร.จรัล ลีรติวงศ์ อาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอนุกรมวิธาน ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกของพืชวงศ์กระดังงา จำนวน 10 ชนิด จากพืชจำนวน 3 สกุล คือ
1. สกุลบุหงาเซิง (Friesodielsia Steenis) เป็นการศึกษาร่วมกับ Prof. Dr. David Johnson จากมหาวิทยาลัย Ohio Wesleyan ประเทศสหรัฐอเมริกา และ ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น จาก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และร่วมกับคุณจิรัฐิ สัตถาพร นักศึกษาระดับปริญญาเอก หลักสูตรชีววิทยานานาชาติ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคุณกิติศักดิ์ อ๋องย่อง นักวิจัยอิสระ ในการช่วยเก็บตัวอย่างพืช
สามารถพบพืชชนิดใหม่ของโลก จำนวน 6 ชนิด ซึ่งได้ตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ ฐาน scopus ชื่อเรื่อง New species and new records for the climber genus Friesodielsia (Annonaceae) in the flora of Thailand ในวารสาร Thai Forest Bulletin (Botany) 49(2): 212–230. 2021) ประกอบด้วย
ส่าเหล้า: Friesodielsia brevistipitata Leerat. เป็นไม้เถามีเนื้อไม้ ถูกค้นพบครั้งแรกที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง จังหวัดสงชลา นอกจากนี้ยังสามารถพบในจังหวัดกระบี่ และนครศรีธรรมราช
บุหงาเขาหลวง: Friesodielsia khaoluangensis Leerat. & Aongyong เป็นไม้เถามีเนื้อไม้ ถูกค้นพบครั้งแรกที่น้ำตกกรุงชิง ของอุทยานแห่งชาติเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับความอนุเคราะห์ในการเก็บตัวอย่างจากคุณกิตติศักดิ์ อ๋องย่อง
สาวหยุด หรือ บุหงาแต่งงาน: Friesodielsia longipetala Leerat. & Chalermglin เป็นไม้เถามีเนื้อไม้ เป็นชนิดที่มีการกระจายพันธุ์ในจังหวัดระนอง สงขลา และสตูล พบมีการปลูกกันแพร่หลายในจังหวัดสตูล เนื่องจากมีความยาวของกลีบดอกที่ยาวและมีกลิ่นหอม
บุหงาสาวิตรี: Friesodielsia macrosepala Leerat. & Aongyong เป็นไม้เถามีเนื้อไม้ มีการกระจายพันธุ์ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง และสงขลา สำหรับชิ้นตัวอย่างต้นแบบ (type specimen) ได้รับการอนุเคราะห์จากคุณกิตติศักดิ์ อ๋องย่อง
บุหงาเซิงพะงัน: Friesodielsia phanganensis Leerat. เป็นไม้พุ่มรอเลื้อยหรือไม้เถามีเนื้อไม้ ปัจจุบันมีการกระจายพันธุ์ที่เกาะพะงัน อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เท่านั้น
บุหงาเซิงสงขลา: Friesodielsia songkhlaensis Leerat. เป็นไม้เถามีเนื้อไม้ ปัจจุบันมีการกระจายพันธุ์เฉพาะในจังหวัดสงขลาเท่านั้น มีรายงานพบครั้งแรกในป่าชุมชนบ้านยางเกาะ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
2. สกุลต้องแล่ง (Polyalthia Blume) เป็นการศึกษาร่วมกับ ผศ. ดร.ภาสกร บุญชาลี จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ Prof. Dr. David Johnson จากมหาวิทยาลัย Ohio Wesleyan ประเทศสหรัฐอเมริกา สามารถพบพืชชนิดใหม่ของโลก จำนวน 2 ชนิด
โดยได้ตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ ฐาน ISI ชื่อเรื่อง Two new species and a new record of the genus Polyalthia (Annonaceae) from Peninsular Thailand ในวารสาร Phytotaxa 510 (3): 239-250. 2021 ประกอบด้วย
เหลืองสุริยา: Polyalthia heliopetala Leerat. & Bunchalee เป็นไม้ต้น พบมีการกระจายพันธุ์ในป่าดิบชื้นของจังหวัดนราธิวาสเท่านั้น
นรามรกต: Polyalthia taweensis Bunchalee & Leerat. เป็นไม้ต้นขนาดเล็กหรือไม้พุ่ม พบมีการกระจายพันธุ์ในป่าดิบชื้นของจังหวัดนราธิวาสเท่านั้น
3. สกุลปาหนัน (Goniothalamus) เป็นการศึกษาร่วมกับ Prof. Dr. Richard M.K. Saunders จากมหาวิทยาลัย Hong Kong ประเทศจีน และ ดร. ปิยะ เฉลิมกลิ่น จาก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) พบพืชชนิดใหม่ของโลก จำนวน 2 ชนิด
ได้ตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ ฐาน ISI ชื่อเรื่อง Goniothalamus roseipetalus and G. sukhirinensis (Annonaceae): Two new species from Peninsular Thailand ในวารสาร PhytoKeys 184: 1–17. 2021) ประกอบด้วย
ปาหนันกลีบม่วง: Goniothalamus roseipetalus Leerat., Chalermglin & R.M.K.Saunders เป็นไม้ต้นหรือไม้พุ่ม พบมีการกระจายพันธุ์ในป่าดิบชื้นของจังหวัดนราธิวาสและยะลา เท่านั้น
ราชครูชาว: Goniothalamus sukhirinensis Leerat., Chalermglin & R.M.K.Saunders เป็นไม้ต้นหรือไม้พุ่ม พบมีการกระจายพันธุ์ในป่าดิบชื้นของจังหวัดนราธิวาส เท่านั้น
จากการศึกษาพืชวงศ์กระดังงาในภาคใต้ของประเทศไทย จนสามารถค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกจำนวน 10 ชนิด บ่งบอกว่าในภาคใต้ของประเทศไทย มีความหลากหลายของพืชวงศ์นี้ค่อนข้างสูง และเนื่องจากในบางพื้นที่ของภาคใต้ตอนล่างเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ไม่สงบที่เกิดขึ้น ทำให้มีนักพฤกษศาสตร์ไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อศึกษาพรรณพืชต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึง
“ส่งผลทำให้การศึกษาพรรณพืชในด้านต่างๆ โดยเฉพาะทางด้านอนุกรมวิธาน ซึ่งทำได้อย่างไม่สมบูรณ์ จึงมีโอกาสที่ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก หรือพืชที่มีการรายงานพบครั้งแรกในประเทศไทยได้ และจากการค้นพบพืชเหล่านี้เพิ่มเติม ทำให้การศึกษาทบทวนพืชสกุลเหล่านี้ในประเทศไทยสามรถได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ จนนำไปสู่การจัดทำฐานข้อมูลของพืชวงศ์กระดังงา สำหรับโครงการพรรณพฤกษชาติแห่งประเทศไทย (Flora of Thailand)” รศ. ดร.จรัล กล่าว