จ.นครศรีธรรมราช พบผู้ป่วยโควิด-19 ในครอบครัวเดียวถึง 18 คน จากสมาชิก 32 คน และยังมีแนวโน้มติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (21 เม.ย.) เมื่อเวลา 14.30 น. ที่ห้องประชุมชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เรียกประชุมคณะกรรมการเพื่อออกมติเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการในการควบคุมโรค
โดย นายแพทย์จรัสพงษ์ สุขกรี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รายงานการตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในวันนี้เพิ่มขึ้นอีก 21 ราย ส่งผลให้นครศรีธรรมราชมีผู้ป่วยสะสมในระลอกเดือนเมษายนถึง 99 รายแล้ว คาดว่าจะมีตัวเลขสูงขึ้นไปอีกอย่างไม่น้อยกว่า 7 วัน
จากการสืบสวนโรคพบว่านอกจากคลัสเตอร์สถานบันเทิงในนครศรีธรรมราชแล้ว ยังมีลักษณะการระบาดที่เกิดขึ้นจากการเดินทางของชาวนครศรีธรรมราชกลับมาเยี่ยมบ้าน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์
นายแพทย์จรัสพงษ์ สุขกรี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช
ในที่ประชุมได้รายงานการตรวจพบผู้ป่วยในครอบครัวเดียวกัน จากอำเภอหนึ่งในนครศรีธรรมราช ที่มีผู้ติดเชื้ออายุ 12 ปี เดินทางมาจากจังหวัดนครปฐม มาเยี่ยมบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยได้มาร่วมงานเลี้ยงฉลองในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในครอบครัวเดียวกัน ซึ่งมีบ้านอยู่ในบริเวณเดียวกัน 3 หลัง มีสมาชิกในครอบครัวเครือญาติรวม 32 คน
ปรากฏว่าขณะนี้ตรวจพบการติดเชื้อโควิด-19 แล้วถึง 18 คน และยังมีแนวโน้มพบเชื้อในครอบครัวนี้เพิ่มขึ้นอีก แต่เจ้าหน้าที่ไม่กังวลมากนักเนื่องจากสามารถควบคุมวงการติดเชื้อได้ในครอบครัวเดียว ไม่พบว่ามีการกระจายสร้างวงแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น และยังการระบาดในลักษณะเดียวกันนี้ในอำเภอปากพนัง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งสามารถควบคุมอยู่ในวงจำกัดได้
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติยกระดับการตรวจหาเชื้อแบบเชิงรุกในพื้นที่เป้าหมาย โดยการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน มีการสืบสวนข้อมูลการเดินทางอย่างชัดเจน แล้วเข้าตรวจเชื้อเพื่อค้นหาเชื้ออย่างละเอียดให้เร็วขึ้น ซึ่งการพบเชื้อได้เร็วนั้นจะยิ่งทำให้การควบคุมเป็นไปได้โดยง่าย
นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช
ด้าน นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ยังได้ออกมติที่ประชุมและสั่งการให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคที่ประจำอยู่ในด่านตรวจทั้งระหว่างจังหวัด และด่านตรวจในระดับอำเภอรวมกว่า 70 ด่านนั้น มีอำนาจในการออกคำสั่งกักกันผู้ที่ต้องสงสัยว่าจะมีการติดเชื้อ โดยเฉพาะกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง กลุ่มที่เดินทางมาจากจังหวัดพื้นที่สีแดง
โดยการออกใบสั่งให้ผู้ถูกคำสั่ง 1 ใบ และส่งสำเนาให้นายอำเภอ 1 ใบ และเจ้าพนักงานควบคุมโรค 1 ใบ เพื่อติดตามการกักกันจะต้องเกิดขึ้นจริงและเป็นไปตามหลักการควบคุมโรค หากผู้ที่ต้องคำสั่งกักกันไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกดำเนินคดีตาม พรบ.ควบคุมโรค มีทั้งโทษปรับและโทษจำคุกตามกฎหมาย
- ติดตามข่าวสารและสถานการณ์ COVID-19 ได้ที่นี่