เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
นครศรีธรรมราช – ชาวสวน “ทุเรียนทวาย” จ.นครศรีธรรมราช ระงมราคารูดหนัก พิษทุเรียนอ่อนถูกส่งออกไปจีนต้นทุนพุ่ง จี้กระทรวงเกษตรเร่งแก้ปัญหา เชื่อเป็นผลพวงโยกย้ายมือปราบทุเรียนอ่อน ทำมาตรการควบคุมคุณภาพอ่อนยวบ
ที่ จ.นครศรีธรรมราช ระยะนี้เป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต “ทุเรียนทวาย” หรือทุเรียนนอกฤดูกาลเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.ท่าศาลา อ.นบพิตำ และใกล้เคียง ซึ่งเป็นพื้นที่ผลิตทุเรียนคุณภาพของ จ.นครศรีธรรมราช สร้างรายได้ให้พื้นที่ และมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกให้ประเทศไทยหลายหมื่นล้านบาทต่อปี ล่าสุด ได้เกิดปัญหาทุเรียนราคาตกต่ำอย่างมาก จากปัญหาที่เกษตรกรเชื่อว่าเป็นผลพวงจากมาตรฐานในการควบคุมคุณภาพที่ถูกละเลย หรือไม่เข้มข้นเหมือนปีการผลิตก่อนๆ และปัญหาจาก “ล้ง” หรือผู้รับซื้อเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิต เนื่องจากปลายทางมีความต้องการสูง จึงทำให้ทุเรียนที่ถูกส่งออกไปนั้นไม่ได้คุณภาพตามเกณฑ์
เช่นเดียวกับสวนทุเรียนหลายจุดในพื้นที่ ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ผู้รับซื้อกำลังเร่งเข้าตัดเก็บเกี่ยวผลทุเรียนตามคำสั่งซื้อ ขณะที่เจ้าของสวนพยายามที่จะควบคุมคุณภาพให้ได้ทุเรียนที่แก่จัด ยอมรับว่าแม้จะควบคุมคุณภาพจากต้นทาง คือทุเรียนจะต้องครบอายุ 120 วัน นับตั้งแต่ดอกทุเรียนเริ่มผลิบาน ขณะเดียวกัน ต้นทุนที่สูงขึ้นจากปุ๋ย และเคมีภัณฑ์ที่มีราคาสูงขึ้นอย่างมาก
นายวิชิต ดำมี ผู้ผลิตทุเรียนทวายรายใหญ่ ระบุว่า จากปัญหาเมื่อช่วงต้นการเก็บเกี่ยวทวายรอบนี้ ที่ผลผลิตทุเรียนระยะแรกจากหลายแหล่งไม่เป็นไปตามมาตรฐาน คือถูกตัดเก็บตั้งแต่ 90 วัน 100 วัน ทำให้เนื้อทุเรียนเป็นลักษณะ “เนื้อใบจาก” คือยังอยู่ในลักษณะทุเรียนอ่อน ไม่เข้าเกณฑ์แก่จัดตามการควบคุมคุณภาพ ทำให้ราคาตกลงมาอย่างรุนแรงจาก 250-260 บาท ปัจจุบันเหลือแค่ 90-120 บาท เชื่อว่าเป็นผลจากความต้องการของตลาดในจีนมีสูงมาก ขณะที่ทุเรียนทวายมีจำนวนน้อย ผู้ส่งออกจึงต้องเร่งเก็บเกี่ยวเพื่อให้ทันต่อการจำหน่าย และทำให้ทุเรียนขาดคุณภาพ
ผู้ผลิตทุเรียนรายนี้ยังเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งควบคุมคุณภาพในการส่งออกโดยด่วน เนื่องจากปัญหานี้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่มาก ท่ามกลางการผลิตทุเรียนที่มีทางเลือกมากขึ้น ทั้งในประเทศเวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ หากยังปล่อยให้เป็นแบบนี้จะพังทั้งระบบ
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น กลุ่มชาวสวนทุเรียนจำนวนมากเห็นพ้องว่า มีเงื่อนประเด็นบางอย่างจากการโยกย้าย นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผู้ที่ควบคุมเข้มงวดคุณภาพมาตรฐานการส่งออก จนสร้างความเชื่อมั่นให้วงการเกษตรกรผู้ผลิตทุเรียนรายใหญ่จำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่ม จ.จันทบุรี ซึ่งถือเป็นประตูการรวบรวมทุเรียน และมังคุดส่งออกไปยังประเทศจีน
ขณะที่ทุเรียนภาคใต้จะไหลไปรวมที่นั่น ก่อนเข้าสู่กระบวนการส่งออก ทำให้อยู่ในอำนาจการควบคุมของพื้นที่เขต 6 ไม่ปรากฏปัญหาเรื่องทุเรียนอ่อนในประเทศปลายทาง มีกลุ่มผู้ผลิตทุเรียนได้เคลื่อนไหวคัดค้านจำนวนมาก แต่ไม่เป็นผล จนกระทั่งเข้าสู่เดือนพฤศจิกายน หลังจากการโยกย้ายเพียงเดือนเดียว ปัญหานี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ของการส่งออกอีกครั้ง และเกษตรกรจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าการโยกย้ายมีเบื้องหลัง ถึงขั้นอาจมีการลงขันวิ่งเต้นกดดันให้มีการโยกย้ายเพื่อความสะดวกในการส่งออกทุเรียน โดยมีมาตรการควบคุมคุณภาพที่คลายความเข้มงวดลงไปมากนั่นเอง