9 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 11.00 น. ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ตัวแทนชาวบ้านชุมชนวังหีบได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้คณะรัฐมนตรีทบทวนและยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 ที่มีการอนุมัติให้มีการดำเนินก่อสร้างเขื่อนวังหีบ โดยนางนงลักษณ์ ผาสุข ตัวแทนชุมชนวังหีบ กล่าวว่า ที่ชาวบ้านมายื่นหนังสือให้มีการยกเลิกมติ ครม.สร้างเขื่อนวังหีบเนื่องจากการที่ ครม.มีการอนุมัติโครงการฯไปเมื่อ ปลายปี 2561 ที่ผ่านมา โดยที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ และภายหลังจากที่มีมติ ครม. ยังทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ถูกกดดันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลา ชาวบ้านจึงตัดสินใจเดินทางจากนครศรีธรรมราชเพื่อมายื่นหนังสือแก่นายกรัฐมนตรีเพื่อยุติปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่
นางสาวนงลักษณ์กล่าวว่า ชาวบ้านเห็นว่า 1.โครงการวังหีบ จังหวัดนครศรีธรรมราช ถูกริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำขาดแคลนเพื่อการปลูกข้าว ซึ่งเป็นปัญหาของ 30 ปีที่แล้ว ไม่ใช่ปัญหาในปัจจุบัน เนื่องจากราษฎรได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต และเปลี่ยนจากการปลูกข้าวเป็นยางพาราและปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นเกษตรน้ำฝน ไม่ใช่เกษตรชลประทาน นอกจากนี้ ในส่วนของน้ำอุปโภคบริโภคนั้น ราษฎรใช้น้ำประปาภูเขาได้ตลอดทั้งปี จึงไม่มีปัญหาน้ำขาดแคลน
2.จากประเด็นที่ 1 นำมาสู่ความไม่ชัดเจนด้านความจำเป็นของการมีโครงการอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน บริบททางสังคมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ทำให้ความต้องการการใช้น้ำและรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับการบริหารจัดการน้ำเปลี่ยนไป ซึ่งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อาจไม่ใช่คำตอบเดียวของการแก้ปัญหาน้ำในพื้นที่ 3.ชาวบ้านเห็นว่าในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองวังหีบมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก และมีฝายอยู่แล้วหลายแห่ง ซึ่งยังไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ บางแห่งชำรุดใช้งานไม่ได้ ชาวบ้านเสนอแนะให้ราชการควรปรับปรุงซ่อมแซมโครงสร้างที่มีอยู่ให้ใช้งานได้ดี เต็มศักยภาพก่อน 4.โครงการไม่มีความเหมาะสมในเชิงเศรษฐศาสตร์
นายวุฒิชัย แก้วลำหัด ตัวแทนชุมชนวังหีบ กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านชุมชนวังหีบ ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อนมาโดยตลอดพร้อมทั้งเสนอทางเลือกการจัดการน้ำที่เหมาะสมกับชุมชน แต่ข้อเรียกร้องของชาวบ้านกลับไม่เคยได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลย ทั้งนี้จากผลการศึกษาของคณะทำงานศึกษาร่วมชุดที่นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร หรืออาจารย์ยักษ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีข้อสรุปไว้แล้ว ให้ชะลอโครงการและปรับปรุงฝายต่างๆในพื้นที่ ที่มีอยู่แล้วแต่ยังใช้งานไม่ได้
ด้านนายยงยุทธ์ มณีฉาย ชาวบ้านชุมชนวังหีบ กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านร่วมกันดูแลปกป้องรักษาป่าวังหีบเป็นอย่างดี หากมีการก่อสร้างเขื่อนวังหีบ พื้นที่ป่าจะถูกน้ำท่วมไปพร้อมกับที่ดินทำกินของชาวบ้าน ในเมื่อเขื่อนไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตามวัตถุประสงค์ เหตุใดกรมชลประทานจึงยังผลักดันให้มีการก่อสร้างอีก
ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าจากผลการศึกษาของคณะทำงานฯ ภายใต้กระทรวงเกษตรฯ ระบุชัดเจนอยู่แล้วว่า ไม่มีความจำเป็นที่ต้องสร้างอ่างเก็บน้ำวังหีบซึ่งเป็นโครงการที่คิดขึ้นตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว เนื่องจากไม่ตอบโจทย์ในปัจจุบัน ไม่สอดคล้องกับภูมิสังคม ไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์
“ขอให้ทุกหน่วยงานทุกระดับ หยุดกดดันชาวบ้านในพื้นที่ หยุดใช้งบประมาณมาสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน และขอให้นำงบประมาณนี้ไปแก้ปัญหาในพื้นที่อื่นที่ประชาชนมีความเดือดร้อน และมีความจำเป็นมากกว่า จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ”ผศ.ดร.สิตางศุ กล่าว