นครศรีธรรมราช – จับตาเลือกตั้งเทศบาลนครนครศรีธรรมราช นักธุรกิจดัง-นักการเมืองท้องถิ่นตบเท้าบุกร้อง “บิ๊กป้อม” หลังข้าราชการชั้นผู้ใหญ่-ผู้กว้างขวางใช้อิทธิพลกดดันข่มขู่-ดูด ส.ท.ย้ายร่วมทีม แฉเลือกตั้ง อบจ.ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม คาดอาจลามเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 3
วันนี้ (1 ก.พ.) ที่ จ.นครศรีธรรมราช ความเคลื่อนไหวของการเตรียมการเลือกตั้งเริ่มร้อนแรง ทั้งสนามเลือกตั้งเทศบาลนคร (ทน.) นครศรีธรรมราช และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตเลือกตั้งที่ 3 แทนตำแหน่งที่ว่างลงของนายเทพไท เสนพงศ์ ที่ต้องคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญให้พ้นจากตำแหน่ง
ล่าสุด นายพัฒนะ อิสระพิทักษ์กุล หรือที่รู้จักในชื่อ “โกหนึ่ง” นักธุรกิจหนุ่มชื่อดัง ผู้สืบทอดกิจการจากนายวิรัช อิสระพิทักษ์กุล หรือ “โกส้อง” นักธุรกิจผู้มากบารมี ได้เป็นหัวขบวนนำทีมนายวิฑูรย์ อิสระพิทักษ์กุล หรือ “โกจู๋” หัวหน้าทีมนครธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช สมาชิกทีมนครธรรมาภิบาล ผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งอดีตผู้สมัครนายก อบจ.นครศรีธรรมราช เข้าพบกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่สถานที่แห่งหนึ่ง เพื่อนำข้อมูลพฤติกรรมการใช้อำนาจหน้าที่และการวางตัวไม่เป็นกลางของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่รายหนึ่ง ที่ได้เข้าด้วยช่วยเหลือกลุ่มผู้กว้างขวางในการกดดันให้มีการย้ายขั้วทางการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่
ทั้งนี้ นายรงค์ บุญสวยขวัญ นายสายันห์ ยุติธรรม นายสันหพจณ์ สุขศรีเมือง ส.ส.นครศรีธรรมราช ทั้ง 3 คนของพรรคพลังประชารัฐ ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการร้องเรียนที่เกิดขึ้นด้วย
นายพัฒนะ อิสระพิทักษ์กุล หรือ “โกหนึ่ง” กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า มีประเด็นสำคัญคือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ใช้อำนาจหน้าที่ไม่เป็นกลาง เข้าช่วยเหลือกลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่เข้ามาเคลื่อนไหวข่มขู่กดดันว่าที่ผู้สมัคร ส.ท. ว่าที่ผู้สมัครฝ่ายบริหาร และทีมงานแกนนำการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และกดดันให้มีว่าที่ผู้สมัคร ส.ท.จำนวนหนึ่งให้มีการย้ายไปสนับสนุนฝ่ายตัวเอง ซ้ำยังเป็นการเข้าด้วยช่วยเหลือในการสนับสนุนสร้างอิทธิพลในทางที่ไม่ถูกต้องของกลุ่มการเมือง โดยเห็นว่าเป็นพฤติการณ์ของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ถูกระบุไปในการร้องเรียนไม่ถูกต้อง และวางตัวไม่เป็นกลาง จึงนำเข้าร้องเรียนโดยตรงต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
เช่นเดียวกับอดีตผู้สมัครนายก อบจ.นครศรีธรรมราช รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องได้เข้าร้องเรียนต่อ พล.อ.ประวิตร ในทำนองเดียวกัน โดยเฉพาะกรณีการเลือกตั้งนายก อบจ. ที่มีลักษณะของการใช้อิทธิพลข่มขู่กดดันของกลุ่มการเมืองบางฝ่ายซึ่งมั่นใจว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม และยังเชื่ออีกว่าพฤติกรรมนี้จะถูกนำมาใช้อีกครั้งในการเลือกตั้ง ส.ส.แทนตำแหน่งที่ว่างลงในเขตเลือกตั้งที่ 3 ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีการส่งผู้สมัครจากทุกพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน จึงร้องเรียนให้มีการดำเนินการในส่วนของการดำเนินการสอบสวนข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับข้อร้องเรียนทุกราย เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรมตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยหลังจากนี้จึงเป็นที่จับตาว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรกับข้าราชการที่ปรากฏในการร้องเรียน