- Line
กระหึ่มโซเชียลตรัง!! จัดงานลูกลมปี 64 ความดั้งเดิมหายไป ห่วงวิถีชาวบ้าน-นาข้าวถูกกลืน ทุนรุกรานวิถีวัฒนธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ตรัง ว่า ขณะนี้กระแสในโลกโซเชียลจังหวัดตรัง กำลังมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเข้มข้น กรณีของการจัดงาน “ลูกลม ชมถ้ำเขาช้างหาย” ครั้งที่ 24 ระหว่างวันที่ 2-4 เมษายน 2564 ช่วงเวลา 16.30-22.00 น. ณ ลานนาข้าว ริมถนนเลียบคลองชลประทาน ม.6 ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง ซึ่งแต่เดิมเป็นงานประเพณีของชาวบ้านในพื้นที่ที่มีการจัดกันอย่างเรียบง่ายในทุกปี ราวช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์-กลางเดือนมีนาคม เพราะเป็นช่วงหน้าลม หรือ ลมว่าว หลังการเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งมีประเพณีโบราณของชาวบ้านลุ่มน้ำคลองนางน้อย อันเป็นพื้นที่เกษตรกรรมโบราณที่ใหญ่ที่สุดใน จ.ตรัง รวมถึงเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์โบราณด้านพระพุทธศาสนา ในตำนานการก่อสร้างพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช โดยเป็นเส้นทางลำเลียงพระบรมสารีริกธาตุจากลังกา รวมถึงทองคำ ทรัพย์สินจินดา เพื่อนำก่อสร้างพระธาตุฯ ด้วยจิตศรัทธาของคนโบราณ จนเกิดเป็นตำนาน ถ้ำเขาช้างหาย ซึ่งปัจจุบันเป็นทิวทัศน์ที่สวยงามประจำท้องทุ่งแห่งนี้ โดยเล่ามาแต่โบราณว่า ระหว่างลำเลียงสินค้าไปเมืองนครศรีธรรมราช เกิดมีลูกช้างในคาราวานตื่นตกใจ วิ่งหายเข้าไปในถ้ำจนหาไม่พบ ทำให้เกิดกลายเป็นชื่อ ถ้ำเขาช้างหายในปัจจุบัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกระแสในโลโซเชียล จ.ตรัง ที่วิพากษ์วิจารณ์กันนั้น ในผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายราย ได้ตั้งข้อสังเกตุถึงหลักการ และวิธีการของการจัดงาน “ลูกลม ชมถ้ำเขาช้างหาย” ในปีนี้ โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Pakornkarn Tayansin ระบุว่า “ผมเพิ่งทราบว่าต้นเดือนเมษาจะมีงานลูกลม ปกติจะจัดหลังจากชาวบ้านเก็บเกี่ยวข้าวกันเสร็จแล้ว ราวๆช่วงเดือนกุมภาของทุกปี เมื่อเจ็ดแปดปีที่แล้ว ผมหลงทางมาเส้นทางนาหมื่นศรีเป็นครั้งแรกช่วงพลบค่ำได้ยินเสียงหึ่งๆดังสนั่นอยู่ระหว่างทางในความมืดเพ่งมองไปเจอสิ่งคล้ายๆ กังหันลมหลายอัน หมุนและส่งเสียงดังสนั่นไปทั่วท้องนาละแวกนั้น วันต่อมาเลยรีบเข้ามาแต่เช้าเพื่อดูว่ามันคืออะไร. เห็นชาวบ้านกลุ่มนึง ปูเสื่อล้อมวงกินข้าวคุณลุง คุณปู่ คุณตา ลูกๆหลานกำลังช่วยกันขุดดินฝังเสา ช่วยกันติดตั้งสิ่งที่คล้ายกังหันที่ผมสงสัยว่ามันคืออะไร เข้าไปพูดคุยชาวบ้านบอกว่ามันคือลูกลม ลูกลมเป็นประเพณีการละเล่นของชาวนาหมื่นศรีที่สืบทอดกันมานับร้อยปี”
“เห็นงานลูกลมปีนี้แล้วเหมือนลูกลมกลายเป็นส่วนประกอบของประดับงานขายของเท่านั้น ลูกลมที่ชาวบ้านติดตั้งไว้ริมถนนหนทางไม่มีอีกแล้ว ที่ติดไวัในท้องนาตัวเองไม่มีอีกแล้ว มีติดตั้งไว้แค่บริเวณงานที่จัดหย่อมเดียวเท่านั้น บรรยากาศที่แสนอบอุ่นการจูงลูกจูงหลานปูเสื่อ ล้อมวงเพื่อมานั่งๆนอนๆฟังเสียงลูกลมคงไม่มีอีกแล้ว วันงานก็ไม่แน่ใจอีกว่าจะมีลูกลมหมุนให้ได้ยินเสียงกันอีกมั้ยในช่วงลมเดือนเมษายน และคงโดนกลบด้วยเสียงรบกวนต่างๆ นานา ที่กล่าวถึงไม่อยากให้เป็นประเด็นอะไร แค่หวังลึกๆ ปีหน้าบรรยากาศงานเดิมๆจะกลับมาบ้าง ถึงจะไม่มีวันเหมือนเดิมร้อยเปอร์เซ็นต์ก็เถอะ. ก่อนที่ความขลังของลูกลม จะหายไปกับกาลเวลา. ไม่มีใครตื่นเต้นให้ความสนใจมันอีกเลย”
ทั้งนี้ได้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายอื่นๆ ได้เข้ามากดไลค์ แชร์ และ แสดงความคิดเห็นในคอมเมนท์จำนวนมาก ถึง 800 ไลค์ 32 แชร์ 47 ข้อความ อาทิ “เคยเสนอหน่วยงานนึง ให้เอาลูกลมมาเป็นสัญลักษณ์บอกทาง แยกหางเป็นสีต่างๆ ชี้บอกทางเป็นแนว จะไปถ้ำ ไปน้ำตก ไปควน ไปหมู่บ้านต่างๆ เป็นการสร้างเสน่ห์ของลูกลมที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เป็นดัชนีชี้วัดลมประจำถิ่น เป็นการอนุรักษ์สืบสานให้คนทำลูกลมกันอย่างยั่งยืน และเป็นของที่หาได้ในถิ่น แต่หน่วยงานรัฐเค้าไม่อินกัน”
“ที่ร้ายที่สุด คือ คนนอก ทุนนอก เข้ามาใช้ต้นทุนความบริสุทธิ์ ความงาม โดยอ้างว่ามาช่วยขาวบ้าน มาพัฒนา มาโปรโมท ในลึกแล้ว การปกป้องรักษา สำคัญไม่แพ้กัน … ใครได้ ใครเสีย ในใจรู้ดี” , “เอาเข้าจริงนะ พื้นที่ที่มีวัฒนธรรมที่สอดคล้องจากธรรมชาติเริ่มถูกแทรกแซงกับวิถีชีวิตในสังคมใหม่ไปเรื่อยๆ” , “ใช่คะ ขออนุญาตนะคะ เมื่อก่อนเรายังเห็นถึงภูมิปัญญาของชาวบ้านที่มีความสุขได้สร้างสรรค์ อนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานได้ชม แต่ปัจจุบันถนนสายนี้กลายเป็น ถนนสายธุรกิจ” , “เดี่ยว นี้กลายเป็น ย่านธุรกิจไปเเล้ว นายทุน กวาดซื้อที่ ถมดิน จากทุ่งนา กลาย เป็น อาคาร อีก 10 ปี ข้างหน้าไม่รู้ ว่า จะมีทุ่งนาอีกไม่ หรือว่าเหลือเเค่ชื่อ ว่า นาหมื่นศรี นี่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะคะ อยากให้ อนุรักษ์ ทุ่งนา กันเยอะๆ เพราะ มีไม่ กี่ที่หรอกคะ ที่ปลูกข้าวกินเอง เราเป็น หนึ่งใน ชาวนา นาหมื่นศรี คะ ขอบคุณคะ” เป็นต้น
ขณะที่เพจ Trangstory ทุกเรื่องเมืองตรัง ซึ่งมีสมาชิก 3.8 หมื่นราย ก็ได้โพสต์ข้อความในเพจทำนองเดียวกันและมีผู้แชร์ต่อไปนับร้อย ว่า งานลูกลมชมถ้ำเขาช้างหาย ครั้งที่ 24 ระหว่างวันที่ 2-4 เมษายน 2564 การจัดเทศกาลแลลูกลม ชมถ้ำเขาช้างหาย เพื่อเป็นการเรียนรู้วิถีชีวิตวัฒนธรรมนาหมื่นศรี” เป็นงานสืบสานประเพณีวัฒนธรรมนำสู่การท่องเที่ยวตำบลนาหมื่นศรี เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น และเป็นการสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยวในตำบลนาหมื่นศรี โดยนำเสนอในรูปแบบแข่งขันลูกลม การแสดงพื้นบ้าน การออกร้านชุมชน การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมนาหมื่นศรี รวมถึงการแสดง แสง สี เสียง ศิลปวัฒนธรรมตรัง
“แต่เมื่อมีการจัดสรรงบประมาณลงมาจัดทำกิจกรรม ในรูปแบบออแกไนซ์ ทั้งการจัดสถานที่ ตกแต่งบรรยากาศ การติดตั้งลูกลม มีความสวยงาม แต่ทำให้ความร่วมไม้ร่วมมือของคนในชุมชนลดน้อยลง จึงทำให้มนต์เสน่ห์ของชุมชนเริ่มจางหาย ผลประโยชน์ของชาวบ้านที่พึงได้เหมือนปีที่ผ่านๆ มาก็หายไป…มันควรเป็นเช่นนั้นหรือ และคิดว่าเมื่อมีการการจัดสรรงบประมาณลงมาจัดกิจกรรมผลประโยชน์ส่วนใหญ่ควรอยู่กับชาวบ้านในการสานต่อประเพณีวัฒนธรรมให้คงอยู่กับชุมชนต่อไปใช่หรือไม่
รวมถึงผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อ วานิช สุนทรนนท์ ที่โพสข้อความเช่นเดียวกันว่า “@@@ เป็นอะไรไปแล้วล่ะ ‘ลูกลม’ @@@ ตอนเย็นที่ผ่านมาผมแวะไปนาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง, เพิ่งรู้ว่า ระหว่าง 2-4 เมษายนนี้ ที่นั่นมีงาน 2 งานซ้อนติดกัน งานหนึ่ง, เป็นงานลูกลมที่เคยมีการจัดกันมาอย่างยาวนาน มีชาวบ้านทำลูกลมขึ้นเสาริมถนนมาแข่งขันกัน ประกวดกันตามประสาชาวบ้านดั้งเดิม รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย แต่ปีนี้กลายเป็นงานของการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรังที่เปิดประมูลให้ใครจากที่ไหนไม่รู้มารับเหมาประมูลงานไปทำ งานสอง, เป็นงานเกี่ยวกับอาหารและของกิน Food Trang Festi WOW เป็นงานของ ททท.หรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สาขาจังหวัดตรัง ส่วนจะประมูลให้ใครมาทำหรือไม่ ผมไม่รู้…เพียงแต่เห็นแล้วเล่ามาด้วยความไม่สบายใจ…
ขอบคุณภาพจากเพจ Trangstory ทุกเรื่องเมืองตรัง