สยามรัฐออนไลน์
12 เมษายน 2564 13:23 น.
การเมือง
เมื่อวันที่ 12 เม.ย. นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ แบบรายมาตรา ของพรรคพลังประชารัฐว่า เป็นการเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยความจำใจ เพื่อต้องการจะอธิบายกับสังคมว่า รัฐบาลชุดนี้ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามนโยบายเร่งด่วน ที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาแล้ว การเสนอแก้ไขเป็นรายมาตรา ซึ่งถ้าจะเปรียบรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เหมือนกับรถยนต์คันหนึ่ง การแก้เป็นรายมาตรา ก็เปรียบเสมือนการซ่อมสี ปะผุ ซึ่งรถยนต์คันนี้มีสภาพแชทซีคต เสียศูนย์ ไม่สามารถใช้งานต่อไปได้ จึงจำเป็นต้องซื้อรถยนต์คันใหม่ ซึ่งเปรียบเสมือนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
ส่วนตัวสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา จะไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนทั้งประเทศ ตนในฐานะที่เป็นผู้ริเริ่มการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญเห็นว่า รัฐธรรมนูญในฝันของตนนั้น อยากให้มีลักษณะดังนี้คือ
1.เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด และเหมาะสมกับสภาพของประเทศไทยมากที่สุด
2.เป็นระบบรัฐสภา มีสภาคู่ เช่นเดียวกับรูปแบบการปกครองของประเทศอังกฤษ ที่เป็นต้นแบบของการปกครองแบบรัฐสภา ที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เหมือนกับประเทศไทย
3.ส.ส.มาจากระบบเขตเลือกตั้งทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องมี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งรูปแบบของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นรูปแบบลูกผสม ที่ใช้แบบอังกฤษผสมกับแบบเยอรมันและฝรั่งเศส ขัดกับการปกครองรูปแบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
4.สมาชิกวุฒิสภา จะมาจากการแต่งตั้ง หรือเลือกตั้งก็ได้ ต้องขึ้นอยู่กับบทบาทและหน้าที่ ถ้ามาจากการเลือกตั้งของประชาชน จะมีหน้าที่แต่งตั้ง ถอดถอน ตรวจสอบองค์กรอิสระได้ ถ้ามาจากการแต่งตั้งก็ควรมีหน้าที่เพียงการกลั่นกรองกฎหมายเท่านั้น
5.คณะรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น เพราะถือว่าเป็นบุคคลที่ได้ผ่านการคัดเลือกของประชาชนมาแล้ว มีความยึดโยงกับประชาชน เป็นการป้องกันบุคคลภายนอก กลุ่มทุน ที่ฉวยโอกาสเข้ามาเป็นรัฐมนตรี
6.จำนวน ส.ส.มีไม่เกิน 300 คน และ ส.ว.มีไม่เกิน 150 คน เพราะเป็นจำนวนที่เหมาะสมกับประชากรของประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศทั่วโลก และเป็นการประหยัดงบประมาณของประเทศชาติอีกด้วย
ทั้งนี้ ได้แต่ฝันว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แม้ว่าจะฝันที่เป็นไปไม่ได้ก็ตาม ก็ขอแค่ได้ตั้งความหวังเอาไว้ ตามอุดมคติ “ฝันให้ไกล ไปให้ถึง”