“ชินวรณ์” ยันแก้ รธน.ของ 3 พรรคร่วมยังยึดหลักการเดิม เตรียมหารืออีกครั้งก่อนยื่นร่างเดือน พ.ค. ไล่ “ไพบูลย์” ไปถามคนใน พปชร.ให้เป็นเอกภาพก่อน
เมื่อวันที่ 12 เมษายน นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช ในฐานะประธานวิปพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของพรรคร่วม 3 พรรค ว่า ในส่วนของพรรคร่วม 3 พรรค คือ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา ยังยืนยันในหลักการเดิม ที่จะร่วมกันเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ให้ทันตอนเปิดสมัยประชุมสภาสมัยสามัญนี้ และเนื่องจากช่วงนี้สภาหยุดยาว แต่ละพรรคก็จะไปร่างของแต่ละพรรค แล้วมาร่วมปรึกษาหารือกันว่าประเด็นใดบ้างที่สอดคล้องกันมากที่สุด เพื่อร่วมกันลงชื่อและจัดพิมพ์ร่างของ 3 พรรคร่วมเพื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ทั้งนี้ จะมีการหารือกันอย่างเป็นทางการอีกครั้งก่อนเปิดประชุมสภาในเดือน พ.ค.
นายชินวรณ์กล่าวต่อว่า ขณะนี้เรามีความเห็นว่าควรเร่งรัดให้ ร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ที่ค้างการพิจารณาของรัฐสภาให้ผ่านโดยเร็ว เพราะมาตราหลักๆ ก็ผ่านไปแล้ว เหลืออีก 10 กว่ามาตราเท่านั้น ดังนั้นเมื่อเปิดสมัยประชุมสภาสามัญมาแล้ว ก็ควรเอาร่าง พ.ร.บ.ประชามติมาพิจารณาให้แล้วเสร็จ เพื่อที่ว่ามีเรื่องอะไรที่ต้องทำประชามติก็สามารถทำได้ทันที จึงอยากเรียกร้องให้ทุกพรรคร่วมมือกันพิจารณา และการพิจารณาที่ผ่านมา ควรที่จะผ่านแล้วไม่ผ่าน ประชาชนยังเห็นใจ เพราะไม่อยากให้เกิดการติดเชื้อโควิด-19 เป็นซุปเปอร์สเปรดเดอร์ขึ้นในสภา และหากไม่ผ่านอีกก็อาจจะถูกมองในแง่ลบได้
เมื่อถามว่า มองอย่างไรที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญน่าจะใช้เวลาหลายปี นายชินวรณ์กล่าวว่า นายไพบูลย์ก็ยังมีแนวคิดเดิม ในการที่จะไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะกระทบต่ออำนาจเดิม หรือประเด็นที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ตนคิดว่าวันนี้สถานการณ์และบริบททางการเมืองเปลี่ยนไปแล้ว นายไพบูลย์ ซึ่งเป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐด้วย ควรจะไปแลกเปลี่ยนแนวคิดคนในพรรคเพื่อให้เป็นเอกภาพก่อน เพราะเป็นพรรคแรกที่เสนอเข้าสภา เพื่อที่จะมาร่วมมือกันทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย และถอดสกัดเปิดประตูการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ส่วนข้อซักถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ นายชินวรณ์กล่าวว่า คิดว่าสมาชิกรัฐสภาต้องร่วมมือกัน เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ เพราะไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถตอบคำถามประชาชนได้ ที่สำคัญหากมีการยุบสภา หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้น หากยังไม่เปลี่ยนกติกายังใช้กติกาเดิม ก็ทำให้การเมืองอยู่ในวังวนเดิมอีก ทุกคนก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน