“ไทยเวียตเจ็ท” ซุ่มสร้างแบรนด์อะแวร์เนส-กวาดมาร์เก็ตแชร์ช่วงวิกฤตโควิด เร่งบุกตลาดในประเทศ ทั้งเส้นทางบินตรง-เส้นทางบินข้ามภาคพร้อมอัดกลยุทธ์การตลาดทุกช่องทาง เผยจ่อรับมอบเครื่องบินใหม่เสริมทัพปีนี้อีก 10 ลำ รองรับการเปิดเส้นทางบินใหม่ทั้งในประเทศ-ต่างประเทศ พร้อมมุ่งสร้างรายได้ผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซเสริมธุรกิจแอร์ไลน์
นายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเวียตเจ็ท เปิดเผยว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไทยเวียตเจ็ทเป็นสายการบินเดียวที่ยังคงให้บริการตามปกติ เพียงแต่ปรับลดจำนวนเที่ยวบินลงให้สอดรับกับความต้องการในการเดินทางของคนไทย ทำให้คนไทยเข้าถึงบริการและรู้จักแบรนด์ (brand awareness) สายการบินไทยเวียตเจ็ทเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยหากมองในภาพรวมของธุรกิจสายการบินจะพบว่า ในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมาไทยเวียตเจ็ทเป็นสายการบินที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตต่ำสุด เนื่องจากเป็นสายการบินขนาดเล็ก มีฝูงบินเพียง 15 ลำ จึงปรับแผนธุรกิจได้ไม่ยากนัก และเป็นจำนวนที่สามารถขยายเส้นทางบินภายในประเทศรองรับเครื่องบินที่มีอยู่ได้เพียงพอ
ก่อนโควิดไทยเวียตเจ็ทมีเส้นทางบินภายในประเทศแค่ 5 เส้นทาง คือ เส้นทางกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) สู่เชียงใหม่, เชียงราย, ภูเก็ต, กระบี่ และอุดรธานี และเส้นทางข้ามภาคอีก 1 เส้นทาง คือ เชียงราย-ภูเก็ต ที่เหลือจะเป็นเส้นทางบินระหว่างประเทศ แต่พอหลังโควิดเราต้องยกเลิกเส้นทางบินระหว่างประเทศบางส่วน จึงหันมาโฟกัสและขยายตลาดภายในประเทศมากขึ้น
โดยได้เพิ่มเส้นทางบินภายในประเทศใหม่อีก 7 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางบินจากกรุงเทพฯ 5 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) สู่หาดใหญ่ (สงขลา), ขอนแก่น, อุบลราชธานี, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช และเส้นทางบินข้ามภาค 2 เส้นทาง คือ เส้นทางเชียงราย-หาดใหญ่ และเส้นทางนครศรีธรรมราช-เชียงใหม่
ส่วนเส้นทางบินระหว่างประเทศนั้น นายวรเนติกล่าวว่า ไทยเวียตเจ็ทได้กลับมาให้บริการเที่ยวบินกึ่งพาณิชย์ตั้งแต่ต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ประกอบด้วย เส้นทางโฮจิมินห์-กรุงเทพฯ โดยให้บริการในทุกวันศุกร์ สัปดาห์ละ 1 เที่ยวบิน และเส้นทางดานัง-กรุงเทพฯ โดยให้บริการในทุกวันพฤหัสฯ สัปดาห์ละ 1 เที่ยวบินเพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางกับคนประสงค์ที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงที่การเดินทางระหว่างประเทศยังไม่เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ หลังจากที่หยุดชะงักไปตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563
“เราไม่เคยหยุดบินเลย เพราะเหตุผล 2 ข้อหลัก คือ 1.เรามองว่าเป็นหน้าที่ เพราะธุรกิจสายการบินคือ การให้บริการนักเดินทาง ซึ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดนั้น ดีมานด์การเดินทางทั้งในประเทศและต่างประเทศก็ยังมีอยู่ และ 2.เรามองว่าเป็นโอกาส ซึ่งที่ผ่านมาก็ตอบโจทย์เราค่อนข้างมาก เพราะในระหว่างที่คนอื่นหยุดบิน แต่ไทยเวียตเจ็ทยังบิน ทำให้เป็นโอกาสดีในการสร้างแบรนด์อะแวร์เนสให้กับแบรนด์ รวมทั้งยังสามารถสร้างมาร์เก็ตแชร์ตลาดในประเทศได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย” นายวรเนติกล่าว
และว่า ทั้งนี้ จะพบว่าในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไทยเวียตเจ็ทมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ราว 50% และขยับขึ้นเป็นประมาณ 80% ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ด้านนายอนันตชัย วัณณะพันธุ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด สายการบินไทยเวียตเจ็ท กล่าวเสริมว่า ปีนี้สายการบินมีแผนรับมอบเครื่องบินใหม่เข้ามาเสริมฝูงบินอีก 10 ลำ จากเมื่อสิ้นปี 2563 ที่มีจำนวน 15 ลำ โดยได้รับมอบเข้ามาแล้ว 1 ลำเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่วนที่เหลืออีก 9 ลำนั้นจะทยอยรับมอบเข้ามาเพื่อรองรับกับการเปิดเส้นทางบินใหม่ ทั้งเส้นทางบินภายในประเทศเส้นทางข้ามภาค และเส้นทางบินระหว่างประเทศ ทั้งนี้สายการบินจะประเมินจากความต้องการของตลาดเป็นหลัก
ขณะเดียวกัน สายการบินไทยเวียตเจ็ทยังคงมุ่งเน้นเรื่องการบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพขึ้น และวางแผนกลยุทธ์ด้านการตลาดที่เข้มข้นขึ้นและเพิ่มช่องทางการขายให้หลากหลายยิ่งขึ้น ทั้งนี้ พื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ โดยตั้งเป้าจำนวนผู้โดยสารปีนี้ที่จำนวน 6 ล้านคน รวมถึงรุกเพิ่มรายได้ในช่องทางอีคอมเมิร์ซเข้ามาเสริมรายได้หลักทางฝั่งสายการบิน ด้วยการสรรหาสินค้าและบริการต่าง ๆ มาจำหน่ายเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้ในกลุ่ม non-airline ให้ได้ประมาณ 30% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนที่ประมาณ 25%