คนเขาแก้วร่วมกันสร้างเมืองแห่งความสุข
ตำบลเขาแก้ว อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบเชิงหุบเขา มีพื้นที่ทั้งหมด 42,197 ไร่ แบ่งออกเป็น 6 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 5,000 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด และปลูกยางพารา
เป็นอีกตำบลหนึ่งที่ชาวบ้านร่วมมือกันพัฒนาชุมชนอย่างรอบด้าน เช่น มีกองทุนสวัสดิการชุมชนเพื่อช่วยเหลือดูแลสมาชิกตั้งแต่เกิดจนตาย มีสถาบันการเงินชุมชน ไม่ต้องกู้ยืมเงินนอกระบบ กู้ยืมได้สูงถึง 250,000 บาท เสียดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ยังส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้ปลูกและผู้บริโภค ส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจเพื่อเป็นบำนาญยามสูงวัย ฯลฯ มีเป้าหมายเพื่อสร้างเขาแก้วให้เป็นเมืองแห่งความสุข
เส้นทางสู่เมืองแห่งความสุข
สาโรจน์ สินธู แกนนำพัฒนาตำบลเขาแก้ว ในฐานะประธานกองทุนสวัสดิการชุมชน เล่าว่า ชาวบ้านเริ่มกิจกรรมรวมกลุ่มกันพัฒนาตำบลตั้งแต่ปี 2553 โดยจัดตั้ง ‘กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาแก้ว’ ขึ้นมา ในเดือนกรกฎาคมปีนั้น ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น อบต.เขาแก้ว สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อเป็นกองทุนในการช่วยเหลือดูแลสมาชิกในตำบล มีสมาชิกเริ่มแรกจำนวน 278 คน โดยสมาชิกจะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนเดือนละ 30 บาทเพื่อนำมาช่วยเหลือสวัสดิการสมาชิก
เช่น เจ็บป่วยนอนโรงพยาบาล ช่วยเหลือคืนละ 200 บาท ปีหนึ่งไม่เกิน 15 คืน เสียชีวิตช่วยเหลือตามอายุการเป็นสมาชิกตั้งแต่ 2,000-12,000 บาท ช่วยเมื่อเกิดภัยพิบัติ 3,000 บาท นอกจากนี้ยังช่วยเรื่องคลอดบุตร ผู้สูงอายุ ฯลฯ โดย อบต.และ พอช.ร่วมสมทบเงินเข้ากองทุนสวัสดิการฯ เพื่อให้กองทุนเติบโต แม้ว่าวงเงินที่ช่วยเหลือสมาชิกจะไม่มากนัก แต่ก็ทำให้ชาวบ้านในตำบลได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยใช้เงินเพียงวันละ 1 บาท หรือปีละ 365 บาท นานวันเข้ากองทุนก็จะงอกเงยช่วยเหลือสมาชิกได้มากขึ้น
สาโรจน์ สินธู
จากกองทุนสวัสดิการฯ ที่เริ่มจากสมาชิกเพียงหลักร้อย แต่เมื่อการบริหารงานโปร่งใส สมาชิกสามารถตรวจสอบได้ ประกอบกับได้รับการหนุนเสริมจาก อบต.เขาแก้ว ช่วยประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมให้ชาวบ้านเข้ามาเป็นสมาชิก กองทุนจึงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยมีคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ที่มาจากตัวแทนชาวบ้านในหมู่ต่างๆ รวม 24 คนช่วยกันบริหารกองทุน
มีผู้ทรงคุณวุฒิในตำบล เช่น เจ้าคณะอำเภอลานสกา นายก อบต. ผู้อำนวยการ รพ.สต. ผู้อำนวยการโรงเรียน และมีที่ปรึกษา เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ช่วยกันขับเคลื่อนให้กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาแก้วเดินไปได้อย่างมั่นคง ปัจจุบัน (มีนาคม 2564) กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ มีสมาชิกจำนวน 4,033 คน มีเงินกองทุนประมาณ 3.5 ล้านบาท
“เราตั้งเป้าว่าภายในปี 2565 กองทุนสวัสดิการชุมชนจะมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 4,500 คน เพื่อให้ครอบคลุมประชากรประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์–ตำบล ส่วนผู้ที่ไม่เข้าร่วมอีกประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เป็นคนที่มีฐานะหรือเป็นข้าราชการที่มีระบบสวัสดิการรองรับอยู่แล้ว” สาโรจน์บอกถึงเป้าหมายในปีหน้า
ใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลวิเคราะห์–แก้ปัญหาชุมชน
สาโรจน์เล่าต่อไปว่า ในช่วงปี 2558 เกิดปัญหายางพาราราคาตกต่ำทั่วประเทศ จากราคาที่ชาวบ้านเคยขายยางถ้วยได้กิโลกรัมละ 60 บาท ลดลงเหลือ 18 บาท ชาวบ้านในตำบลเขาแก้วที่ปลูกยางพาราเป็นอาชีพหลักจึงพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย หลายครอบครัวที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง เมื่อขัดสน ขาดรายได้ จึงต้องหันไปกู้ยืมเงินนอกระบบ เกิดปัญหาหนี้สินติดตามมา
จากปัญหาดังกล่าว แกนนำในตำบลจึงใช้ ‘สภาองค์กรชุมชนตำบลเขาแก้ว’ ซึ่งเดิมชาวบ้านร่วมกันจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2553 เพื่อใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาในตำบล (ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนตำบล พ.ศ. 2551) แต่ในช่วงที่ผ่านมาสภาองค์กรชุมชนตำบลเขาแก้วยังมีบทบาทไม่เด่นชัด กลุ่มแกนนำในตำบลจึงถือโอกาสนี้ทบทวนบทบาทของสภาฯ และใช้เวทีการประชุมสภาฯ ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาในตำบล
การวิเคราะห์ข้อมูลตำบลในครั้งนั้นพบว่า คนในตำบลเขาแก้วส่วนใหญ่ไม่มีเงินออม และขาดแคลนเงินทุนในการประกอบอาชีพ เมื่อราคายางตกต่ำจึงต้องกู้หนี้ยืมสิน เพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ นอกจากนี้ที่ดินที่ปลูกยางพารา และผลไม้ทั้งตำบล ประมาณ 70 % ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เพราะทับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาติเขาหลวงและอุทยานฯ น้ำตกโยง จึงไม่สามารถนำที่ดินไปจำนองกับสถาบันการเงินได้ ต้องกู้ยืมเงินนอกระบบ
“ผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลในครั้งนั้น ทำให้เรารู้ว่า ชาวบ้านควรจะมีแหล่งทุนเป็นของตนเอง จึงนำไปสู่การจัดตั้งสถาบันการเงินชุมชนตำบลเขาแก้วขึ้นมา เพื่อส่งเสริมการออมและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเขาแก้วเป็นกลไกขับเคลื่อน ใช้คณะกรรมการสภาฯ ชี้แจงสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน เพื่อให้เข้ามาเป็นสมาชิก แต่เรามีเงื่อนไขว่า คนที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกสถาบันการเงินฯ จะต้องเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนด้วย เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงช่วยเหลือกัน” สาโรจน์ชี้แจงความเป็นมาของการจัดตั้งแหล่งทุนของชุมชน
สถาบันการเงินชุมชนตำบลเขาแก้ว เริ่มจัดตั้งในเดือนพฤษภาคม 2558 มีสมาชิกเริ่มแรกจำนวน 223 คน สมาชิกจะต้องฝากเงินเข้าสถาบันฯ เดือนละ 1 ครั้ง อย่างน้อยคนละ 100 บาท ใครมีมากก็ฝากมาก มีเงินสะสมรวมกันในช่วง 6 เดือนแรกประมาณ 385,000 บาท เมื่อมีเงินมากขึ้นจึงนำเงินมาให้สมาชิกกู้ยืม
สมาชิกสามารถกู้เงินเพื่อประกอบอาชีพ การศึกษาของบุตรหลาน รักษาพยาบาล หรือปลดหนี้สิน หนี้นอกระบบ ได้สูงสุด 100,000 บาท คิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 บาทต่อเดือน และผ่อนชำระเงินกู้ได้ตามความจำเป็น จึงช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านได้มาก
นอกจากนี้กลุ่มและองค์กรต่างๆ ในตำบลเขาแก้วยังส่งเสริมให้สมาชิกสถาบันการเงินชุมชนปลูกต้นไม้เศรษฐกิจที่มีค่า โดยจัดตั้ง ‘กลุ่มออมต้นไม้’ ในปี 2560 ใช้งบประมาณสนับสนุนจากกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาแก้ว จำนวน 10,000 บาท เพื่อนำมาซื้อกล้าไม้เศรษฐกิจ เช่น ตะเคียนทอง จำปาทอง พะยูง สะเดาเทียม ฯลฯ จำนวน 1,000 ต้น แจกจ่ายให้สมาชิกปลูก เมื่อต้นไม้เติบโตก็จะมีราคา สามารถใช้เป็นหลักทรัพย์เพื่อกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินชุมชนฯ และยังเป็นการเติมพื้นที่สีเขียวเพิ่มอากาศบริสุทธิ์ให้แก่ตำบลด้วย
มอบต้นไม้ให้สมาชิกนำไปปลูก
สมาชิกกลุ่มออมต้นไม้ในตำบลเขาแก้ว มีประมาณ 89 ครอบครัว สมาชิกจะปลูกต้นไม้แบบสวนสมรม หรือปลูกแทรกลงไปในสวนผลไม้ มีเป้าหมายปลูกเพิ่มปีละ 1,000 ต้น เมื่อต้นไม้มีอายุได้ 10 ปี หรือภายในปี 2570 สามารถเอาต้นไม้เศรษฐกิจมาเป็นหลักทรัพย์ ใช้ค้ำประกันหรือกู้เงินจากสถาบันการเงินชุมชนได้
โดยกำหนดว่าต้นไม้ที่มีเส้นรอบวง 1 เซนติเมตร จะมีมูลค่า 100 บาท หากมีเส้นรอบวง 100 ซม. หรือ 1 เมตร จะมีมูลค่า 10,000 บาท ถ้ามี 10 ต้นสามารถนำมาเป็นหลักทรัพย์หรือกู้เงินจากสถาบันฯ ได้ถึง 100,000 บาท หรือปล่อยให้ต้นไม้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นประมาณวันละ 3 บาท หากเริ่มปลูกต้นไม้ตั้งแต่วัยหนุ่มสาวเมื่อต้นไม้อายุได้ 30 ปีจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าต้นละ 20,000-30,000 บาท หากปลูก 100 ต้นก็จะมีเงินล้านเอาไว้ใช้ในยามสูงวัย ไม่ต้องพึ่งพาลูกหลานหรือเงินคนชราที่ได้ไม่ถึงเดือนละ 1,000 บาท
ปัจจุบัน (มีนาคม 2564) สถาบันการเงินชุมชนตำบลเขาแก้ว มีสมาชิกจำนวน 603 ราย มีเงินหมุนเวียนประมาณ 6 ล้านบาทเศษ สมาชิกสามารถกู้ได้สูงสุด 250,000 บาท โดยใช้สมาชิกค้ำประกัน 2 คน ที่ผ่านมามีสมาชิกกู้ยืมเพื่อนำเงินไปประกอบอาชีพ หมุนเวียน ปลดหนี้สินแล้วกว่า 100 ราย เปิดทำการฝาก–กู้–ชำระหนี้ ทุกวันที่ 6 ของเดือน โดยมีคณะกรรมการบริหารสถาบันฯ รวม 15 คน แบ่งหน้าที่ทำงานเป็นฝ่ายต่างๆ เช่น ผู้จัดการ เหรัญญิก ฝ่ายสินเชื่อ ฝ่ายตรวจสอบบัญชี ฯลฯ
ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์–อาหารปลอดภัย พัฒนาคุณภาพชีวิตครบวงจร สร้างเมืองแห่งความสุข
กลุ่มไส้เดือนลานสกา ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลเขาแก้ว ชำนาญ ราบบำเพิง กรรมการกลุ่มไส้เดือนเล่าว่า กลุ่มเริ่มก่อตั้งในปี 2560 เริ่มจากแกนนำที่สนใจทำเกษตรอินทรีย์ประมาณ 20 คนรวมกลุ่มกันลงหุ้นได้เงินประมาณ 50,000 บาท นำไปซื้อไส้เดือนพันธุ์ AF ( African Night Crawler) ซึ่งเป็นไส้เดือนขนาดใหญ่นำมาเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ เพื่อนำมูลไส้เดือนไปใส่รอบโคนต้นทุเรียน มังคุด และแปลงผักสวนครัว มูลไส้ดินจะช่วยบำรุงต้นไม้ ทำให้พืชผักงดงาม นอกจากนี้ไส้เดือนจะช่วยพรวนดิน ทำให้ดินร่วนซุย ระบายอากาศได้ดี รากพืชจะแตกฝอย ดึงอาหารไปเลี้ยงต้นได้มากขึ้น พืชผักจึงงดงาม และปลอดสารเคมี
ปัจจุบันกลุ่มไส้เดือนมีสมาชิก 65 ราย เลี้ยงไส้เดือนในบ่อซีเมนต์จำนวน 45 บ่อ ใช้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไส้เดือนใส่ลงในบ่อๆ ละ 1 กิโลกรัม ใส่มูลวัวแห้ง ก้อนเพาะเห็ดที่หมดเชื้อแล้วลงไปผสม ใช้เศษผัก ผลไม้ หยวกกล้วยเป็นอาหารไส้เดือน ใช้เวลา 1 เดือนก็นำมูลไส้เดือนมาทำปุ๋ยได้ ส่วนไส้เดือนก็จะแพร่พันธุ์ต่อไปอีกไม่รู้จบ โดยกลุ่มจะมีรายได้จากการขายพันธุ์ไส้เดือนกิโลกรัมละ 600 บาท ปุ๋ยไส้เดือนกิโลกรัมละ 20 บาท เดือนหนึ่งจะขายปุ๋ยได้ประมาณ 500 กิโลกรัม และกำลังส่งเสริมให้ชาวบ้านทั้งตำบลเพราะเลี้ยงไส้เดือนเพื่อทำปุ๋ยเอง ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีเร่ง พืชผัก ผลไม้ก็งดงามได้
กลุ่มอาหารพื้นบ้าน เป็นอีก 1 กลุ่มที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ตำบลเขาแก้ว เพราะทำอาหารไปประกวดในระดับจังหวัดได้รับรางวัลมาแล้วหลายครั้ง
สุกัลยา โอฬาร์กิจ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ประธานกลุ่ม ในฐานะแม่ครัวหัวป่าก์ บอกว่า ตอนนี้กลุ่มรับงานทำอาหารเลี้ยงในงานต่างๆ ทั่วไป รวมทั้งโต๊ะจีน คิดราคาเหมาเป็นหัวต่อมื้อๆ ละ 120-200 บาท เคยรับงานเลี้ยงสูงสุด 800 คน รายได้จะนำมาแบ่งให้สมาชิก 15 คน แม่ครัวมี 5 คน มีรายได้ครั้งละ 700-1,000 บาท หากเป็นงานศพจะคิดราคาถูก เพราะถือว่ามาช่วยทำบุญ
อาหารพื้นบ้านและแกนนำพัฒนา (จากซ้ายไปขวา) สิรินทร์ สุกัลยา และสาโรจน์
ส่วนอาหารจานเด็ดจะใช้พืชผักธรรมชาติที่ขึ้นอยู่ตามเชิงเขาตามลำห้วย หรือพืชผักที่ปลอดสารเคมี เช่น บอนมิ้น ผักกูด ส้มเค้า รวมทั้งหยวกกล้วยดองรสชาติอร่อย หวานกรอบ นำพืชผักเหล่านี้มาปรุงเป็นอาหารต่างๆ เช่น แกงส้มบอนมิ้นใส่ปลาทะเลหรือปลาย่าง แกงเลียงใส่ส้มเค้า ยำผักกูดใส่กุ้งหมึกและไข่ต้มราดกระทิ หยวกกล้วยดองกินกับน้ำชุบหรือน้ำพริกกะปิ ได้รสชาติแบบบ้านๆ แต่ “หรอยแรง”
สิรินทร์ สินธู ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลเขาแก้ว กล่าวว่า นอกจากกลุ่มต่างๆ ในตำบลจะร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ แล้ว สภาองค์กรชุมชนฯ กองทุนสวัสดิการ และสถาบันการเงินชุมชนฯ ยังเชื่อมโยงกลุ่มต่างๆ ในตำบลมาทำงานร่วมกัน โดยร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อสม. และ อบต.เขาแก้ว เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตชาวเขาแก้วแบบครบวงจร เช่น ส่งเสริมกิจกรรมเด็กและเยาวชน การออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนการศึกษา ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง คนพิการ คนด้อยโอกาส
นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานประสานสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัย (สป.สว.) สำรวจข้อมูลผู้สูงวัย เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และวางแผนในการส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย ซึ่งในตำบลเขาแก้วขณะนี้มีผู้สูงวัยประมาณ 900 คน เพื่อให้เตรียมพร้อมและใช้ชีวิตในยามสูงวัยได้อย่างมีความสุข เช่น มีเงินเก็บออม มีต้นไม้มีค่าเป็นบำนาญ มีสุขภาพแข็งแรง มีสภาพบ้านเรือน–ห้องน้ำที่เหมาะสมกับผู้สูงวัย มีกิจกรรมต่างๆ ทำ ไม่ซึมเศร้าหงอยเหงา ฯลฯ
ถือเป็นตำบลต้นแบบแห่งหนึ่งที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างชุมชน สร้างเขาแก้วให้เป็นเมืองแห่งความสุข !!
หมายเหตุ : เรื่องและภาพโดยสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)