“สคร.11 ห่วงโรคมือ เท้า ปาก ระบาด แนะผู้ปกครอง ครู คัดกรองเด็กทุกวัน”
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช แนะผู้ปกครองและสถานศึกษา ระวังเด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ให้คัดกรองและสังเกตอาการของเด็กก่อนเข้าเรียน หากพบเด็กป่วยให้แยกออกจากเด็กปกติและแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน ให้หยุดเรียนและพาไปพบแพทย์โดยเร็ว
แพทย์หญิงศิริลักษณ์ ไทยเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราชกล่าวว่า ในช่วงนี้นอกจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ที่ต้องระวังเป็นพิเศษแล้ว ยังมีโรคมือ เท้า ปาก ที่ต้องระวังเช่นกัน เนื่องจากเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็ก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กอนุบาล ซึ่งอาจมีการทำกิจกรรมร่วมกันและมีโอกาสใกล้ชิดกัน ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโรคได้ง่าย สถานการณ์ของโรคมือ เท้า ปาก ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 6 มีนาคม 2564 พบผู้ป่วย 618 ราย ช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือเด็กแรกเกิด – 4 ปี รองลงมาคืออายุ 5-9 ปี จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ สุราษฎร์ธานี รองลงมาคือ นครศรีธรรมราช ภูเก็ต ระนอง พังงา ชุมพร และกระบี่
โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จามรดกัน หลังได้รับเชื้อจะมีอาการไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ต่อมา 1-2 วัน มีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น และจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชักเกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจติดเชื้อโรคมือ เท้า ปากชนิดรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
แพทย์หญิงศิริลักษณ์ กล่าวเพิ่ม ย้ำผู้ปกครองสังเกตอาการของเด็กก่อนมาสถานศึกษา ส่วนสถานศึกษาขอให้เคร่งครัดมาตรการคัดกรองและสังเกตอาการเด็กร่วมกับมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 ก่อนเข้าเรียนทุกเช้า และให้เด็กสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย 100% หมั่นทำความสะอาดพื้นที่ที่เด็กใช้ร่วมกัน ของใช้ ของเล่นเด็กเป็นประจำเพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม หมั่นให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหารหรือเข้าห้องน้ำและหลังเล่นของเล่น เพื่อลดเชื้อสะสมบนมือและลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น ทั้งนี้ หากพบเด็กป่วย ขอให้รีบแยกออกจากเด็กปกติและแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน เพื่อพาไป พบแพทย์โดยเร็ว และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหาย แยกของใช้ส่วนตัวของเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับเด็กคนอื่นๆ งดไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร