เสร็จเลือกตั้งซ่อม ฆ่า ‘โคถึก’ เสร็จศึก มีรัฐธรรมนูญรออยู่
หลังจากการนัดหารืออย่างเป็นการพิเศษระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็มี ความมั่นใจในเอกภาพของรัฐบาล
เป็นความมั่นใจที่แม้พรรคพลังประชารัฐจะกำชัยในการเลือกตั้งซ่อม เขต 3 นครศรีธรรมราช ก็มิได้เหลิงลอย
เป็นความมั่นใจที่แม้พรรคประชาธิปัตย์จะประสบกับความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งซ่อม เขต 3 นครศรีธรรมราช แต่ก็มั่นใจว่า สัดส่วนและโควต้าของตนยังดำรงคงอยู่เหมือนเดิม
สถานการณ์ทางการเมืองหลังการต่อสู้อย่างเข้มข้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม ณ เขต 3 นครศรีธรรมราช จึงมิได้เป็นปัจจัยให้ เกิดความแคลงคลางกังขาขึ้นภายในรัฐบาล
ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐ ยังมีจิตหนึ่ง ใจเดียวรวมศูนย์อยู่ที่การนำอันแข็งแกร่งมั่นคงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่แปรเปลี่ยน
ปัจจัยที่อาจทำให้เกิดภาวะหมองหมางคลางแคลงใจบ้างก็อาจ จะเป็นกรณีการแก้ไขเพิ่มเติม ‘รัฐธรรมนูญ’
จุดอันเป็นปัญหาของ ‘รัฐธรรมนูญ’ มิได้อยู่ที่ว่าพรรคพลังประชารัฐกับ 250 ส.ว.จะตัดสินใจอย่างไรในวาระ 3 หากแต่อยู่ที่การวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร
น่าสังเกตว่าทั้งหมดนี้เป็นบทบาท ‘ร่วม’ ระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับ 250 ส.ว.อย่างเป็นด้านหลัก
น่าสังเกตว่า ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย 61 เสียง ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ 51 เสียง ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา 12 เสียงแสดงความแตกต่างจาก 2 องค์ประกอบข้างต้น
ในเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้แต่งตั้ง 250 ส.ว.ด้วยมือของตนเอง ในเมื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ 2 คนนี้จึงถูกจ้องมองจากสังคมการเมืองอย่างเป็นพิเศษ
นั่นก็จะเห็นได้จากท่าทีของ 250 ส.ว. นั่นก็จะเห็นได้จากท่าทีของ 122 ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐต่อรัฐธรรมนูญ
สถานการณ์ทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้งซ่อม เขต 3 นครศรี ธรรมราช จึงรวมศูนย์ไปยังสถานการณ์อันจะบ่งชี้ทิศทางของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อย่างเป็นด้านหลัก
นั่นก็คือ จะมีเอกภาพอย่างไรระหว่าง 250 ส.ว. 122 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ กับองค์ประกอบอื่นของ ‘รัฐสภา’