เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2566 นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร(วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขปัญหาสภาล่ม ว่า ความจริงเราพยายามตลอดให้สภาสามารถเดินหน้าต่อไปได้เพราะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีแนวทาง ประการแรกคือ การขอความร่วมมือจากทุกพรรคให้ร่วมกันรักษาองค์ประชุม และส.ส.ที่ลาออกไป ไม่มีผลต่อองค์ประชุม เพราะองค์ประชุมลดจำนวนตามไปด้วย ส่วนส.ส.ที่ยังอยู่ จึงควรปฏิบัติหน้าที่โดยพร้อมเพรียงกัน
ประการที่สองคือ เราได้แสวงหาความร่วมมือโดยนำกฎหมายที่เห็นพ้องต้องกันมาพิจารณาก่อน เช่นในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ ที่ค้างวาระอยู่ ในวันที่ 24 ม.ค. ส่วนวันที่ 25 ม.ค.เป็นการประชุมร่วมรัฐสภา นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญา ข้อตกลงระหว่างประเทศ และพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เสนอให้ตัดอำนาจ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ และคุณสมบัตินายกฯ ต้องมาจากส.ส. เพื่อให้ทุกอย่างสามารถเดินหน้าต่อไปได้
ประการที่สามคือ อยู่ที่การตรวจสอบของพี่น้องประชาชนว่าสภาในช่วงสุดท้ายนี้ผู้บริหารประเทศได้ให้ความสนใจกับระบบสภา แค่ไหนอย่างไร และสมาชิกสภา มีการตระหนักรู้เรื่องผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนที่ออกเป็นกฎหมายอย่างไร
ตนจึงได้ฝากผ่านสื่อมวลชนและภาคีเครือข่ายภาคประชาชนต่างๆ ขอให้ช่วยกันติดตามเพราะระบบรัฐสภาเป็นระบบที่อาศัยเสียงข้างมากและต้องเคารพเสียงข้างน้อยที่จะขับเคลื่อนการแก้ไขกฎหมายและเป็นเรื่องปกติที่ใครมีเสียงข้างมากจะได้เป็นรัฐบาลส่วนใครที่เป็นเสียงข้างน้อยก็ทำหน้าที่ฝ่ายค้าน เรื่องของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เรื่ององค์ประชุมต้องรับผิดชอบร่วมกัน
“ผมอยากฝากไปยังนายกฯและฝ่ายบริหารว่า ต้องให้ความสำคัญกับสภาด้วยไม่เช่นนั้นเสียงเรียกร้องที่ให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วย ที่จะแก้ไขคุณสมบัตินายกฯ ให้ต้องมาจากการเลือกตั้ง และยกเว้นคุณสมบัติที่ให้ส.ว.มีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ เรายังมีจุดยืนเหมือนเดิมในเรื่องนี้” นายชินวรณ์ กล่าว
เมื่อถามว่า หมายความว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ควรลงสมัครส.ส.ใช่หรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพิสูจน์ตัวเองเพราะมาอยู่ในสถานะที่เป็นนักการเมืองแล้ว ถ้าท่านยอมรับการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยระบบรัฐสภาก็ต้องให้ความสำคัญต่อสภา