ที่โรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราช เมื่อ 18 มกราคม 2566 นายโอสถ สุวรรณ์เศวต ประธานสหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สลท.) ได้เรียกประชุมซักซ้อมนัดหมายกลุ่มลูกจ้างสายสนับสนุนของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเตรียมเดินทางไปรวมตัวที่กระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 6 ก.พ. 2566 และขอเข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อติดตามข้อเรียกร้องโดยเฉพาะกรณีเบี้ยเสี่ยงภัยโควิด-19 สำหรับบุคลากรด่านหน้า โดยเฉพาะสายสนับสนุนบริการในปัจจุบันไม่ได้รับเงินและไม่ได้รับการเหลียวแลใดๆ ขณะที่บุคลากรสายงานอื่นในโรงพยาบาลได้รับเงินส่วนนี้ไปแล้วนับแสนบาทต่อคน
นายโอสถ กล่าวว่า ในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ผู้บริหารบอกว่าเราต้องทำงานเป็นครอบครัวเดียวกันเป็นพี่เป็นน้องที่ร่วมกันดูแลผู้ป่วย แต่เมื่อถึงเวลาได้รับประโยชน์จากการทำงานลูกจ้างกลายเป็นส่วนเกิน เป็นพวกที่ไปแย่งชิงประโยชน์จากพวกเขาเสียแทน เงินกู้ที่รัฐบาลกู้มากลับถูกบอกว่าสำหรับให้ข้าราชการสายวิชาชีพเท่านั้น ผู้ออกระเบียบนี้คือปลัดกระทรวงสาธารณสุข เวลาทำงานเราคือครอบครัวเดียวกันทำงานด้วยกัน แต่พอได้เงินมาลูกจ้าง 56 สายงานอย่างพวกเราไม่มีสิทธิ ต้องไปหาเงินอื่นมาเขาบอกเช่นนั้น
“ตัวอย่างหัวหน้าตึกหัวหน้างานไม่เคยได้สัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 โดยตรง แต่กลับได้เบี้ยเสี่ยงภัยโควิด-19 ไปเต็มๆ เวรละ 1 พันบาท แต่พวกที่สัมผัสโควิด-19 อย่างพวกเรานั้นกลับถูกแบ่งให้เป็นชั่วโมง ถ้าทำงาน 6 ชม. ก็ต้องถูกตัดไป 2 ชม.ส่วนพวกเขาเป็นผู้บริหารไม่ได้แตะต้องอะไรกลับรับไปเต็มๆ นี่คือความไม่เป็นธรรม” ประธานสหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย กล่าว
นายโอสถ กล่าวอีกว่า มีพนักงานหญิงของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต เข้าไปทวงถามติดตามเรื่องนี้ ปรากฏว่าสิ่งที่ได้รับคือการถูกเลิกจ้าง เราต้องต่อสู้จนพนักงานรายนี้ได้กลับเข้ามาทำงานเหมือนเดิมแล้ว ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ จะมีการเดินทางไปรวมตัวกันที่กระทรวงพี่ติดตามเรื่องนี้พร้อมทั้งมีข้อเรียกร้องที่ต้องติดตามอีกอย่างน้อย 4 ประการด้วยกัน
สำหรับข้อมูลล่าสุดของกลุ่มลูกจ้างสายสนับสนุนของกระทรวงสาธารณสุข จะมีทั้งลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างเหมาบริการ (รายวัน-รายเดือน) มีทั้งหมด 56 สายงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุขกว่า 1.4 แสนคน เช่น พนักงานขับรถยนต์ พนักงานผู้ป่วยเหลือคนไข้ ผู้ช่วยพยาบาล พนักงานเปล พนักงานบัตรรายงานโรค พนักงานห้องเอกซเรย์ พนักงานวิทยาศาสตร์ (ห้องปฏิบัติการ) พนักงานประจำห้องยา พนักงานช่าง ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรงแต่ไม่ได้รับการพิจารณา ส่วนกลุ่มวิชาชีพจะมีทั้งหมด 3 แสนคนเศษซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ได้รับเบี้ยเสี่ยงภัยโควิด-19 เป็นหลัก.