ในเดือนมกราคมนั้น ถือเป็นช่วงที่ความกดอากาศสูงแผ่ลงมาปกคลุมเป็นระยะ ๆ ทำให้แนวโน้มการเคลื่อนเข้ามาของพายุลดลงมาก จากสถิติในรอบ 70 ปีพบว่าเคยมีพายุเคลื่อนเข้าไทยเพียงแค่ 1 ลูกเท่านั้นในเดือนม.ค.
จากสถิติของกรมอุตุนิยมวิทยาในรอบ 70 ปีพบว่าในเดือนมกราคมนั้นเคยมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยแค่เพียงลูกเดียวเท่านั้น ก็คือพายุ “ปาบึก” เกิดขึ้นในปีพ.ศ.2562 หรือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว โดยพายุลูกนี้ก่อตัวขึ้นจากหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง จากนั้นก็ได้เคลื่อนตัวมาทางอ่าวไทยตอนล่างและมาขึ้นฝั่งที่อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราชในวันที่ 4 มกราคม ทำให้ช่วงนั้นหลายจังหวัดแถบนั้นมีฝนตกหนักถึงหนักมาก จากนั้นก็เคลื่อนตัวลงสู่ทะเลอันดามันต่อไป ซึ่งในรอบ 70 ปีพบแค่เพียงลูกเดียวเท่านั้น ถือว่ามีโอกาสน้อยมากที่จะพบพายุในเดือนนี้ สาเหตุสำคัญเป็นเพราะในช่วงฤดูหนาวนั้น ทางซีกโลกเหนือจะหันขั้วออกจากดวงอาทิตย์ ทำให้ช่วงนี้ซีกโลกเหนือจะผลิตมวลอากาศเย็นเป็นส่วนใหญ่ อากาศจึงเย็นและแห้ง เมื่ออากาศจมตัวลงการก่อตัวของพายุจึงเกิดขึ้นได้น้อยลง เพราะปกติแล้วพายุหมุนเขตร้อนจะก่อตัวได้เมื่อมหาสมุทรมีอุณหภูมิสูงกว่า 26-27 องศาเซลเซียส ซึ่งมักจะอยู่ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายนเป็นส่วนใหญ่ แต่เดือนนี้อุณหภูมิของมหาสมุทรนั้นจะต่ำกว่าปกติ ทำให้อัตราการระเหยของน้ำทะเลเพื่อก่อตัวเป็นเมฆฝนก็น้อยลงนั่นเอง ช่วงนี้เลยพบการก่อตัวของพายุได้น้อยกว่าปกติ ยกเว้นแต่ช่วงไหนที่มวลอากาศเย็นอ่อนกำลังลงไปก็ยังมีโอกาสที่พายุจะก่อตัวขึ้นมาได้