อีก 24 ชั่วโมงข้างหน้า เข็มนาฬิกาหมุนเข้าสู่วันสิ้นปี ก้าวเข้าศักราชใหม่ในปฏิทิน
พ.ศ. สองพันห้าร้อยหกสิบหก
รัตนโกสินทรศก 242
คริสต์ศักราช 2023
นักษัตรเถาะ สัญลักษณ์แทนคือ “กระต่าย”
อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่ปีนักษัตรใหม่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนอ้าย ปลายปี 2565 หลังลอยกระทง 15 วัน ตามปฏิทินจันทรคติ
ไม่ใช่ 1 มกราคมแบบสากล หรือสงกรานต์แต่อย่างใด
ในขณะนี้ จึงอยู่ในห้วงเวลาของปีเถาะแล้วโดยสมบูรณ์ (อ่าน เปิดราชกิจจาฯ กา ‘ประดิทิน’ เมื่อวานของพรุ่งนี้ ก่อนจะถึง 1 มกรา)
⦁ ปีเถาะ มาจากไหน?
‘กะต้าย’ มอญ สู่ ‘กระต่าย’ ไทย
ข้อมูลเกี่ยวกับนักษัตร “เถาะ” ที่น่าสนใจ ถูกนำเสนอในบทความของ ทอง โรจนวิภาค ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ.2538 ซึ่งนำพระดำริของ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จาก “สาส์นสมเด็จ” ตามที่ทรงประทานความเห็นไว้ว่า ชื่อปีเถาะของมอญที่ว่า “กะต้าย” นั้น น่าจะเป็นคํา “กระต่าย” ของไทยที่เอามาจากมอญ
กล่าวคือ คำว่า “กระต่าย” สันนิษฐานว่ามีรากศัพท์มาจากคำว่า “กะต้าย” ในภาษามอญ ส่วนภาษาเขมรออกเสียงว่า “เถาะฮ์” คำเดียวกับที่หมายถึงปีนักษัตรลำดับที่ 4
ในขณะที่ พระยาอนุมานราชธน หรือ “เสฐียรโกเศศ” ได้ให้ความเห็นว่า ปีเถาะ ตรงกับคําสามัญที่ใช้เรียกชื่อสัตว์ในภาษาจีน
สมบัติ พลายน้อย ปราชญ์ผู้ล่วงลับ นิยามความหมายของ “นักษัตร” ว่าหมายถึง “ชื่อรอบเวลากำหนด 12 ปี เป็น 1 รอบ เรียกว่า 12 นักษัตร” โดยกำหนดให้สัตว์ 12 ชนิดเป็นเครื่องหมายแต่ละปี เริ่มจากปีชวด มีหนูเป็นเครื่องหมาย ปีฉลู มีวัวเป็นเครื่องหมาย ปีขาล มีเสือเป็นเครื่องหมาย ปีเถาะ มีกระต่ายเป็นเครื่องหมาย โดย 12 นักษัตรนั้นมีในกลุ่มเอเชียเท่านั้น ประเทศที่ปรากฏความเชื่อนี้โดยมากก็ใกล้ชิดหรือมีความสัมพันธ์กับไทย อาทิ จีน ญวน ญี่ปุ่น เกาหลี กัมพูชา ลาว ทิเบต ไทใหญ่ ซึ่งประการนี้อาจสะท้อนได้ว่า ชนเหล่านี้มีความเป็นมาที่สืบเนื่องมาจากที่เดียวกันก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม ในปีนักษัตรของเวียดนามและปีนักษัตรของกูรุง ในเอเชียใต้ ปีเถาะ มีสัญลักษณ์เป็น “แมว” ไม่ใช่กระต่าย
ในทางโหราศาสตร์ ปีเถาะคือธาตุไม้ สีประจำปีคือสีเทา มีทิศประจำปีคือทิศตะวันออก ชาติภูมิ มนุษย์ผู้หญิง มิ่งขวัญโชคลาภ คือ ต้นมะพร้าว หรือ ต้นงิ้ว
⦁‘พระธาตุแช่แห้ง’ แห่งนครน่าน พระธาตุประจำปีเถาะ
สำหรับพระธาตุประจำปีนักษัตรเถาะ คือ พระธาตุแช่แห้ง แห่งเมืองน่าน
ข้อมูลจาก กรมศิลปากร อ้างถึงหลักฐานเอกสารพื้นเมืองน่าน ฉบับวัดพระเกิดว่า พระธาตุแช่แห้งสร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระธาตุ 7 องค์ และพระพิมพ์เงิน พระพิมพ์ทอง อย่างละ 20 องค์ ซึ่งพระยาการเมือง หรือกานเมือง เจ้าผู้ครองเมืองพลัว หรือปัว ได้รับจากพระยาลิไท กษัตริย์สุโขทัย จากการไปช่วยสร้างวัดหลวงอภัย
พลพยุหะ ไชยรส นักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ระบุว่า พระธาตุแช่แห้งถือเป็นพระธาตุที่มีความสำคัญมากที่สุดของนครน่าน ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่ทำให้เป็นเขตศักดิ์สิทธิ์โดยการขุดคูน้ำคันดินล้อมรอบที่เรียกว่า “เวียงพระธาตุ” โดยใช้คูน้ำเป็นอุทกเสมาแสดงขอบเขต ตำนานพื้นเมืองน่านระบุว่าพญากานเมืองได้รับพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุจากกษัตริย์สุโขทัยหลังที่พระองค์เสด็จไปช่วยสร้างวัดหลวงอภัยและได้นำพระบรมสารีริกธาตุไปบรรจุไว้ในพระธาตุที่สร้างขึ้นบนเนินดินพูเพียงแช่แห้งในปี พ.ศ.1899 ตามชัยภูมิที่
พระธัมมปาลเถระ ได้แนะนำ ความว่า
“…พระญาครานเมืองนิมนต์มาเมตตาอยู่เมืองพัวแล เมื่อนั้น
พระญาร่ำเพิงดูที่ควรจุธาตุ จิ่งไหว่เจ้าไทยว่า ข้าแห่งมหาราชคุรุเจ้า จักควรจุธาตุไว้ที่ใดดีชา ขอเจ้ากูจุ่งพิจารณาดูที่ควรจุไว้เทอะ มหาเถรเจ้า (ธัมมปาลเถระ) พิจารณาที่ ดูที่ทุกถ้วนถี่เมืองกาวก็หันพูเพียงที่ควรจุธาตุ…”
ต่อมาหลังจากที่ท้าวผาแสงเจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์พูคาสิ้นพระชนม์ลงในปี พ.ศ.2003 พระเจ้าติโลกราชได้ส่งท้าวขาก่านมาครองเมืองน่าน ท้าวขาก่านได้บูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุแช่แห้งขึ้นใหม่โดยอาจได้รับแรงบันดาลใจจากพระธาตุหริภุญชัยเป็นต้นแบบ
⦁ ตรากระต่าย คือ ‘ปาหัง’ 1 ในเมือง 12 นักษัตร ณ นครศรีธรรมราช
อีกแง่มุมอันเกี่ยวเนื่องกับปีเถาะและนักษัตรทั้งหลาย ปรากฏในงานศิลปกรรมอันสะท้อนความคิดความเชื่อของผู้คน ดังเช่น พระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์หนึ่ง ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา หล่อด้วยทองเหลือง ศิลปะรัตนโกสินทร์ ฝีมือช่างท้องถิ่นภาคใต้ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 24
ฐานพระพุทธรูปองค์ดังกล่าว ประดับลวดลายรูปสัตว์ 12 ตัว โดยเริ่มจากรูปหนู วัว เสือ กระต่าย งูใหญ่ งูเล็ก ม้า แพะ ลิง ไก่ สุนัข และหมูตามลำดับ นับเป็นการเรียงตามปีนักษัตร จากชวดถึงกุน
ฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ระบุว่า แม้ในประวัติศาสตร์ไทย ปรากฏการใช้ปีนักษัตรมานาน ทว่าในด้านศิลปกรรมกลับไม่ปรากฏมากนัก อีกทั้งการสะท้อนความหมายก็ไม่สามารถสืบความได้อย่างชัดเจนนัก นอกเหนือไปจากความเชื่อในเรื่องของโหราศาสตร์ก็อาจจัดเข้ากับการเป็นลวดลายประดับเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ของไทย รวมทั้งในคาบสมุทรสทิงพระและบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พบว่ามีเรื่องราวที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องปีนักษัตรคือ จาก “ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช” ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17-18 เมืองนครศรีธรรมราชมีเมืองภายใต้การปกครอง 12 เมือง เรียกว่า “เมือง 12 นักษัตร” ประกอบไปด้วยเมืองสายบุรี ปัตตานี กลันตัน ปาหัง ไทรบุรี พัทลุง ตรัง ชุมพร บันทายสมอ สะอุเลา ตะกั่วป่า และกระบุรี แต่ละเมืองใช้ตราสัญลักษณ์รูปสัตว์ใน 12 นักษัตรเป็นตราประจำเมือง คือ เมืองสายบุรีใช้ตราหนู (ชวด) เมืองปัตตานีใช้ตราวัว (ฉลู) เมืองกลันตันใช้ตราเสือ (ขาล) เมืองปาหังใช้ตรากระต่าย (เถาะ) เมืองไทรบุรีใช้ตรางูใหญ่ (มะโรง) เมืองพัทลุงใช้ตรางูเล็ก (มะเส็ง) เมืองตรังใช้ตราม้า (มะเมีย) เมืองชุมพรใช้ตราแพะ (มะแม) เมืองบันทายสมอใช้ตราลิง (วอก) เมืองสะอุเลาใช้ตราไก่ (ระกา) เมืองตะกั่วป่าใช้ตราสุนัข (จอ) และเมืองกระบุรีใช้ตราหมู (กุน)
ความเชื่อเรื่องเมือง 12 นักษัตรอาจจะส่งผลต่องานประดับตกแต่งงานศิลปกรรมในสมัยต่อมา ดังจะเห็นได้จากในปัจจุบันจังหวัดนครศรีธรรมราช มีการใช้ตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดเป็นรูปสัตว์ทั้ง 12 นักษัตร รวมถึงมีการนำเอารูปสัตว์ใน 12 นักษัตรมาใช้ในการประดับตกแต่งสิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ที่พบในบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ของไทย รวมทั้งในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระและบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอีกด้วย เช่น ขันน้ำลาย 12 นักษัตรทั้งแบบที่ทำจากสำริดและทำเป็นแบบเครื่องถมแบบนครศรีธรรมราช เข็มขัดเงินสลักดุนเป็นลาย 12 นักษัตรที่นิยมใช้กันในหมู่ผู้มีฐานะดีหรือมียศถาบรรดาศักดิ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นต้น
สำหรับที่มาและแรงบันดาลในการสร้างลวดลายประดับฐานพระพุทธรูปดังกล่าว มีความเป็นไปได้ ว่าอาจจะเป็นเรื่องของความเชื่อในเรื่องของเมือง 12 นักษัตรที่สืบต่อกันมา หรืออาจจะเป็นคติที่มีมาก่อนแล้วในกลุ่มชาวจีนที่เข้ามามีบทบาทอย่างสูงในงานศิลปวัฒนธรรมของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ก็เป็นได้
⦁ ตากะยายตำข้าว ถึง ‘กระต่ายในดวงจันทร์’
สู่ผืนธงและตราประจำจังหวัด ‘จันทบุรี’
ปิดท้ายด้วยเรื่องราวของกระต่ายที่ผู้คนในปัจจุบันคุ้นเคยในความทรงจำ นั่นคือ กระต่ายในดวงจันทร์
ประเด็นนี้ ศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ค้นคว้าข้อมูลจากพระวินิจฉัยหัวข้อ “สังเกต” ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ในจดหมายเวรฉบับวันที่ 23 สิงหาคม 2485 ไว้ว่า
“ที่เราเปรียบผู้ชายเหมือนกระต่าย ผู้หญิงเหมือนพระจันทร์นั้นเป็นของมาทางต่างประเทศ เราละเมอกันด้วยฤทธิ์ซึมซาบ ที่แท้เราเห็นด่างในดวงพระจันทร์เป็นรูปยายกะตาตำข้าวต่างหาก”
ส่วนความสัมพันธ์ของดวงจันทร์กับกระต่าย พบในหลายชนชาติ อาทิ จีนมีปกรณัมเล่าเรื่องว่ากระต่ายเป็นบริวารรับใช้เซียน ทำหน้าที่ปรุงยาอายุวัฒนะ เป็นสัตว์เลี้ยงของ “ฉางเอ๋อ” เทพีดวงจันทร์ หรือมีกระต่ายตำข้าวอยู่บนดวงจันทร์ เช่นเดียวกับเกาหลีและญี่ปุ่น ที่เชื่อว่ามีกระต่ายถือสากยักษ์ตำแป้งอยู่บนดวงจันทร์
นอกจากนี้ ยังมีปกรณัมของฮินดูที่ระบุว่า “พระจันทร์” เป็นเทพผู้ถือกระต่ายไว้ในพระหัตถ์ รวมถึงกระต่ายในภาษาสันสกฤตใช้คำว่า “ศศะ” จึงเป็นที่มาของคำเรียกดวงจันทร์ว่า “ศศินฺ” (แปลว่า ซึ่งมีกระต่าย)
ครั้นมาพิจารณาศิลปกรรมในสมัยรัชกาลที่ 7 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ระบุไว้ในจดหมายเวรฉบับวันที่ 27 มกราคม 2470 ว่าได้ทรงออกแบบธงประจำกองลูกเสือแต่ละมณฑล โดย
“…ธงพระจันทร์มีรูปกะต่าย ประจำกองลูกเสือมณฑลจันทบุรี…”
ลักษณะพื้นธงสีไพล กลางธงเป็นรูปสี่เหลี่ยมสีม่วง มีรูปกระต่ายในดวงจันทร์สีไพล อันหมายถึงเมืองสำคัญของมณฑลนี้ คือ เมืองจันทบุรี
ต่อมา หลังอภิวัฒน์สยาม 2475 “กระต่ายในดวงจันทร์” ก็ยังคงถูกใช้เป็นตราประจำจังหวัดจันทบุรีสืบมา
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวมากมายในปีเถาะ นักษัตรที่ 4 ในขวบปี 2566