ทั่วไป
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในพื้นที่ภาคใต้จังหวัดนครศรีธรรมราชมีพื้นที่ปลูกมังคุดมากที่สุดจำนวนทั้งหมด 62,672 ไร่ และมีผลผลิตรวม 33,276.63 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 746.39 ล้านบาท ซึ่งผลผลิตในฤดูปกติจะออกระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคม จากความแตกต่างของพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชที่มีข้อได้เปรียบทางธรรมชาติในเรื่องของภูมิประเทศทำให้มีผลผลิตมังคุดออกดอกนอกฤดูประมาณเดือนสิงหาคม และจะเก็บเกี่ยวประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่มีผลผลิตจากพื้นที่อื่น ทำให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตมังคุดได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 150-200 บาท รวมทั้งการเก็บเกี่ยวมังคุดในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชจะยาวนานประมาณ 3-4 เดือน ทำให้ไม่มีปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ
นอกจากนี้ ยังพบว่าผลผลิตมังคุดในแถบเทือกเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรรมราช จะมีลักษณะคุณภาพพิเศษที่เป็นลักษณะเด่นแตกต่างจากมังคุดทั่วไป และรับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI ) “มังคุดเขาคีรีวง” โดยมีลักษณะผลกลมใหญ่ ก้นรี เปลือกหนา ผิวมันวาว เมื่อสุกจะมีสีชมพูถึงสีแดง หรือสีม่วงอมชมพู มีนวลแป้งสีขาวเคลือบผิว ขั้วและกลีบขั้วผลสีเขียวสด เนื้อสีขาว หนานุ่ม ฉ่ำน้ำ รสชาติเปรี้ยวอมหวานอร่อย ผลผลิตจึงเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การที่มังคุดในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชจะออกดอกนอกฤดูได้นั้นมีหลายปัจจัยเป็นตัวควบคุม ซึ่งการจัดการสวนที่ถูกต้องและเหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญ การผลิตมังคุดจะประสบความสำเร็จได้ผลผลิตเป็นที่พอใจต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค เกษตรกรควรรู้ถึงห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบของการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จะทำให้สามารถจัดการสวนมังคุดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น กรมวิชาการเกษตรจึงมีคำแนะนำสำหรับเกษตรกรชาวสวนมังคุดนำไปปฏิบัติ ดังนี้
การให้ปุ๋ยกับต้นมังคุดควรให้ปุ๋ยอินทรีย์แก่มังคุดอย่างน้อยปีละครั้ง ถ้าให้มากครั้งได้ยิ่งดี ซึ่งการให้ปุ๋ยควรโรยที่รอบทรงพุ่มในปริมาณที่พอสมควร ระยะที่เหมาะกับการใส่ปุ๋ยอินทรีย์คือ หลังจาก เก็บผลแล้ว อาจใส่ในช่วงกลางของฤดูฝน และหลังจากติดผลแล้วอีก 1-2 ครั้ง สำหรับปุ๋ยเคมี ปกติชาวสวนจะให้ปุ๋ยเคมีปีละ 2 ครั้ง คือ หลังจากเก็บผลแล้วโดยให้ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 และหลังจากมังคุดออกดอกก็จะให้ปุ๋ยสูตรที่มีโพรแทสเซียมสูง เช่น 12-12-17-2 หรือ 13-13-21 ส่วนการให้ปุ๋ยทางใบควรให้พร้อมกับการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกําจัดศัตรูพืชจะสิ้นเปลืองน้อยลง
นอกจากนี้ ต้องหมั่นให้น้ำอย่างสม่ำเสมอช่วงการเจริญเติบโตทางใบต้นมังคุดที่มีอายุตา ยอด 9-12 สัปดาห์และผ่านสภาพแล้ง 20-25 วัน ควรมีการจัดการน้ำเพื่อควบคุมให้มีปริมาณดอกเพียงร้อยละ 35-50 ของยอดทั้งหมด เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยหลังจากมังคุดออกดอกแล้ว 10-15 เปอร์เซ็นต์ของตายอดทั้งหมดให้น้ำปริมาณมากถึง 220-280 ลิตรต่อต้นทุกวัน จนกระทั่งพบว่ายอดที่ยังไม่ออกดอกเริ่มมียอดอ่อนแทนตาดอกจึงเริ่มให้น้ำตามปกติคือ 80-110 ลิตร ต่อต้น และจะต้องให้น้ำในปริมาณนี้อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องทุกวัน
สำหรับการจัดการศัตรูพืชช่วงมังคุดแตกใบอ่อน ออกดอก และผลอ่อน จะมีศัตรูหลายชนิดที่เป็นศัตรูสำคัญ ได้แก่ เพลี้ยไฟ ไรแดง หนอนกินใบ หนอนชอนใบ เกษตรกรต้องเฝ้าระวังหมั่นสังเกตและสำรวจแปลงปลูกอยู่เสมอ ซึ่งจะช่วยลดการระบาดของศัตรูพืชได้ดี และหากเกิดการระบาดจะสามารถป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้ทันเหตุการณ์ ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตปกติการออกดอกของมังคุดจะไม่ออกพร้อมกันแต่จะทยอยออกอยู่นาน 30 วัน การเก็บเกี่ยวต้องทยอยเก็บเกี่ยวไปด้วยเช่นกัน โดยหลังจากมังคุดเริ่มติดผลประมาณ 11-12 สัปดาห์จะทยอยเก็บเกี่ยวได้ ซึ่งการเก็บเกี่ยวอย่างถูกวิธีให้ยึดหลักมังคุดได้รับความกระทบกระเทือนน้อยที่สุด จะช่วยรักษาคุณภาพไว้ได้ และหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ ตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค ตัดแต่งกิ่งที่แตกใหม่ภายในทรงพุ่ม ส่วนต้นมังคุดที่มีอายุมากกว่า 20 ปีควรมีการตัดยอดออกเพื่อเปิดทรงพุ่มให้แสงทะลุผ่านได้รับแสงเต็มที่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการสังเคราะห์แสง มีผลทำให้ผลผลิตสูง และมี ประสิทธิภาพในการลดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชบางชนิดได้
จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นแหล่งผลิตมังคุดนอกฤดูกาลแหล่งสำคัญของประเทศไทย ผลผลิตมังคุดนอกฤดูเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่เกษตรกร เนื่องจากผลผลิตจะมีปริมาณน้อยกว่าปกติทำให้มีราคาสูง สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนในพื้นที่เป็นอย่างมากเป็นที่ต้องการของประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านรหัส GAP รูปแบบใหม่สามารถดำเนินการส่งออกได้อย่างราบรื่นไม่มีปัญหา สำหรับเกษตรกรที่สนใจสามารถขอรับคำแนะนำการจัดการสวนมังคุดให้มีคุณภาพตามหลักวิชาการได้ที่นางอาพร คงอิสโร นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ เบอร์โทรศัพท์ 0858833995 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครศรีธรรมราช โทรศัพท์ 0 7580 9709 สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 กรมวิชาการเกษตร
ที่มา: กรมวิชาการเกษตร
กรมวิชาการเกษตร