วันที่ 5 พ.ย. 2564 แพทย์หญิงสุมณี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในช่วงหนึ่งถึงกรณีข่าวพบการติดเชื้อที่โรงเรียนคำสร้อยพิทยาสรรค์ จ.มุกดาหาร ล่าสุด ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เขต 11 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวหลังลงพื้นที่ติดตามและตรวจหาเชื้อด้วย RT-PCR ซ้ำในผู้ที่พบผลบวกจาก ATK โดยผล RT-PCR ออกมาเป็นลบทุกราย ทำให้กรณีที่สงสัยว่าโรงเรียนนี้จะเป็นคลัสเตอร์ สรุปแล้วคือไม่มี และขณะนี้กลับมาเปิดการเรียนการสอนตามปกติแล้ว
นอกจากนี้ ยังรายงานถึงสถานการณ์และการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ใน จ.นครศรีธรรมราช โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครศรีธรรมราช วิเคราะห์สถานการณ์จะเห็นได้ว่า พบการระบาดมากขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ย. มีผู้ติดเชื้อประมาณวันละ 300-400 ราย และเพิ่มขึ้นในช่วงเดือน ต.ค. มากถึง 600 รายต่อวัน โดยคลัสเตอร์แรกเริ่มอยู่ในโรงงานและตลาดที่ระบาดเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ก่อนต่อมาจะแพร่กระจายเข้าสู่ชุมชน
สำหรับคลัสเตอร์ 5 อันดับแรกที่พบการติดเชื้อใน จ.นครศรีธรรมราช ในช่วง 1 ก.ย. – 4 พ.ย. 2564 มีดังนี้
- ครอบครัวและชุมชน 79.76%
- ตลาด 6.89%
- เรือนจำ 5.11%
- โรงงาน 1.68%
- กิจกรรมทางศาสนา 1.43%
แพทย์หญิงสุมณี กล่าวต่อไปถึงมาตรการที่ทาง จ.นครศรีธรรมราช ดำเนินการ คือ การตรวจค้นหาเชิงรุกโดยทีม CCRT, ระดมฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง ทั้งนี้ จ.นครศรีธรรมราช ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือ พื้นที่สีแดงเข้ม แต่ทางจังหวัดนั้นมีการกำหนดห้ามออกนอกเคหสถาน หรือ เคอร์ฟิว ระหว่างเวลา 22.00 – 03.00 น. เข้มกว่าที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. คือ 23.00 – 03.00 น. รวมถึงมีการประกาศปิดชุมชนที่มีการระบาดเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อจำกัดวงการแพร่ระบาด
ทางด้านคลัสเตอร์ในจังหวัดอื่นๆ ยังพบที่ จ.เชียงใหม่ ยังพบการระบาดในตลาด 32 ราย แคมป์ก่อสร้าง 8 ราย สถานศึกษา 7 ราย และศูนย์เด็กเล็ก 4 ราย ส่วน จ.ชลบุรี ค่ายทหาร 15 ราย แคมป์ก่อสร้าง 13 ราย.