ภูมิภาค
นครศรีธรรมราช ตั้งศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย
วันพุธ ที่ 03 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564, 19.44 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
วันที่ 3 พ.ย.64 ที่ห้องประชุมศรีวิชัย ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยปี 2564 โดยมีนายสมพงษ์ มากมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช คณะกรรมการฯ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนนายอำเภอและผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมหารือ เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกัน รับมือและแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น ในช่วงฤดูฝนของปี 2564 กอปรกับในช่วงนี้มีรายงานฝนตกต่อเนื่องในเกือบทุกพื้นที่
เบื้องต้นจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ปี 2564 ขั้น ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์ฯ ที่ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ ผู้แทนจากหน่วยงาน องค์กรภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเตรียมพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่ในการให้การช่วยเหลือประชาชน
นายสายัน กิจมะโน ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชได้กำหนดพื้นที่ที่ต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษใน 10 จุด ครอบคลุมทั้ง 23 อำเภอของจังหวัด ประกอบด้วย บ้านเนินธัมมัง อำเภอเชียรใหญ่ ,บ้านบางนกวัก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ,เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ,บ้านแสงวิมาน ตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง ,บ้านบางศาลา อำเภอปากพนัง ,ตำบลท่าซัก อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ,บริเวณท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ,บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช ,อำเภอชะอวด และเทศบาลเมืองทุ่งสง
ด้านนายประโมทย์ ช่วยบุญชู ผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยานครศรีธรรมราช กล่าวว่า โดยปกติปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปีของจังหวัดนครศรีธรรมราช จะอยู่ที่ประมาณ 2,700 มิลลิเมตร แต่จากข้อมูลในห้วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2564 มีปริมาณน้ำฝนที่ตกไปแล้ว คิดเป็นร้อยละ 48 ดังนั้นในช่วง 2 เดือนจากนี้ คาดหมายว่าจะมีปริมาณน้ำฝนตกตกมาอีกร้อยละ 52 หรือประมาณ 1,300 มิลลิเมตร ประกอบกับมีปัจจัยมาเสริมจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ได้คาดหมายว่าในปีนี้ภาวะอากาศหนาวในประเทศไทยจะยาวนานไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ภาคใต้มีฝนตกยาวนานด้วยเช่นกัน และปัจจัยจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งอิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศต่ำที่พาดผ่าน จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมรับมือกับอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น
ขณะที่นายพิทักษ์พงษ์ ติ๊บแก้ว ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่าทางสำนักงานชลประทานได้เตรียมเครื่องจักรกลและอุปกรณ์เครื่องมือ เพื่อเตรียมความพร้อมให้การช่วยเหลือ ประกอบด้วย เครื่องสูบน้ำ จำนวน 112 เครื่อง ซึ่งขณะนี้ได้มีการติดตั้งและพร้อมปฏิบัติงานแล้วจำนวน 20 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำจำนวน 75 เครื่อง และรถแบ๊คโฮ จำนวน 7 คัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ทั้ง 4 แหล่ง ของจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น ทางเจ้าหน้าที่ได้มีการพร่องน้ำให้ปริมาณน้ำลดลงเหลือประมาณร้อยละ 50 เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะเพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้ด้วย
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่