ม.วลัยลักษณ์ ลงพื้นที่บริการวิชาการรับใช้สังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตนักเรียน และชาวบ้าน พร้อมผลักดันโรงเรียนชุมชนใหม่เป็นโรงเรียนต้นแบบศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา
ศุกร์ที่ 29 มกราคม 2564 เวลา 18.19 น.
ศูนย์บริการวิชาการ ม.วลัยลักษณ์ (มวล.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ลงพื้นที่บริการวิชาการรับใช้สังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตนักเรียน และชาวบ้านชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา ตามแนวทางการสร้างชุมชนต้นแบบ “ต้นไม้แห่งความสุข มวล.” (WU Happy Tree) ทั้ง 5 มิติ ได้แก่ การศึกษา สุขภาพ อาชีพ สิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรม พร้อมผลักดันโรงเรียนชุมชนใหม่เป็นโรงเรียนต้นแบบศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา ณ โรงเรียนชุมชนใหม่ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช
ผศ.ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ กล่าวว่า “ศูนย์บริการวิชาการ มวล.เป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือของสำนักวิชาและหน่วยงานต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการลงพื้นที่ เพื่อดำเนินงานบริการวิชาการแก่ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์ พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของมหาวิทยาลัย ตามวิสัยทัศน์ “เป็นองค์การธรรมรัฐ เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นหลักในถิ่น เป็นเลิศสู่สากล” ซึ่งการจะเป็นหลักในถิ่นได้นั้น มหาวิทยาลัย ต้องมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชุมชน ผ่านการนำองค์ความรู้จากนักวิชาการ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญ จากหลากหลายสาขาของมหาวิทยาลัย มาช่วยพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับชาวบ้าน เพื่อให้ชุมชนวลัยลักษณ์พัฒนาเป็นชุมชนต้นแบบ ตามแนวทางการดำเนินงาน “ต้นไม้แห่งความสุข มวล. WU Happy Tree” ทั้ง 5 มิติ คือ 1.การเพิ่มศักยภาพด้านการศึกษา 2.การส่งเสริมและดูแลสุขภาพ 3.การยกระดับอาชีพ 4.การดูและรักษาสิ่งแวดล้อม และ5.การส่งเสริมด้านสังคมและวัฒนธรรม
โดยการลงพื้นที่ดูแลชุมชนในด้านต่างๆ เป็นความร่วมมือของคณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษา จากสำนักวิชาต่างๆ ของมหาวิทยาลัย และความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง เพื่อการดำเนินงานที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนโดยแท้จริง เช่น 1.มิติด้านการเพิ่มศักยภาพด้านการศึกษา โดยการสอนภาษาอังกฤษและภาษาจีน จากคณาจารย์และนักศึกษาในสำนักวิชาศิลปศาสตร์ ให้แก่นักเรียนโรงเรียนชุมชนใหม่ 2.มิติด้านการส่งเสริมและดูแลสุขภาพ ผ่านโครงการพัฒนาเครือข่ายและระบบการดูแลฟื้นฟูผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน โครงการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง โดยคณาจารย์และนักศึกษา จากหลักสูตรกายภาพบำบัด สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ การดูแลด้านคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย โดยสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์
3. มิติด้านการยกระดับอาชีพ โดยการสอนทำลูกประคบ น้ำมันนวดสมุนไพร ส่งเสริมสุขภาวะ เพิ่มรายได้และสร้างอาชีพให้แก่ชุมชนภายใต้แบรนด์ Happy Tree โดยการสนับสนุนองค์ความรู้จาก สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ การส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกร การคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสม โดยการสนับสนุนจากสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร การแก้ปัญหาท้องลม ท้องไม่มีลูกในสุกร โดยความช่วยเหลือจากสัตวแพทย์ วิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี 4.มิติทางด้าน การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยการจัดทำแก๊สชีวภาพใช้ในครัวเรือน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและแก้ปัญหากลิ่นไม่พึงประสงค์จากมูลสุกร
สำหรับ ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามงานบริการวิชาการด้านต่างๆ ของ มวล. ได้ที่ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 222 ตำบลไทยบุรี อำเภอท่าศาลา นครศรีธรรมราช 80160 โทรศัพท์ 0-7567-3528 โทรสาร 0-7567-3525 E-mail : [email protected] Website : https://cas.wu.ac.th Facebook : ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์.
คุณเห็นด้วยกับข่าวนี้หรือไม่
-
เห็นด้วย
0%
-
ไม่เห็นด้วย
0%