ส่องจังหวัดใหญ่สู้โควิด
ยังไหวรับผู้ป่วยไร้เตียง
กลับไปรักษาบ้านเกิด
—————-
หมายเหตุ…ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดในจังหวัดใหญ่ๆ ชี้แจงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ และการรองรับการรักษาทั้งผู้ป่วยในพื้นที่และผู้ติดเชื้อที่ขอกลับไปรักษาตัวในภูมิลำเนา
————————–
นพ.จรัสพงษ์ สุขกรี
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช
หลังจาก ศบค.ยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด โดย จ.นครศรีธรรมราช จากพื้นที่ควบคุม หรือสีส้ม เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรือสีแดง จึงต้องปรับแนวทางการบริหารจัดการ โดยเพิ่มด่านตรวจ/จุดคัดกรองเพิ่มในระดับอำเภอเพื่อสร้างความปลอดภัยให้ประชาชนในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค รวมทั้งมาตรการการรักษาผู้ป่วยโควิด
ข้อมูล เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 45 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยจากโครงการผู้ป่วยไม่มีเตียงกลับมารักษาตัวบ้านเกิด 17 ราย และเป็นผู้ป่วยในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช 28 ราย
ขณะนี้เตียงรักษาผู้ป่วยยังไม่เต็ม ยังมีว่างเพื่อรองรับผู้ป่วยมากกว่า 500 เตียง อย่างไรก็ตาม เพื่อเตรียมความพร้อมและลดปริมาณคนไข้ในโรงพยาบาลหลัก คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครศรีธรรมราช มีมติให้โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช และโรงพยาบาลสิชล พิจารณาตั้งโรงพยาบาลสนามสาขาเพิ่มได้ตามความเหมาะสม
ล่าสุด โรงพยาบาลสิชล รับผู้ป่วยโควิดจากนอกพื้นที่เข้ารับการรักษาแล้ว 150 คน ใช้โรงพยาบาลสนามศาลาประชาคมอำเภอสิชล 70 เตียง รองรับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีโรงพยาบาลในพื้นที่อีก 6 แห่ง ที่มีความพร้อมให้ผู้ป่วยโควิด เข้ารักษา อาทิ โรงพยาบาลหัวไทร โรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ โรงพยาบาลบางขัน โรงพยาบาลพิปูน โรงพยาบาลลานสกา และโรงพยาบาลขนอม เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดให้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านที่สุดด้วย
ส่วนการเตรียมความพร้อมจัดโครงการ Home Isolation หรือการแยกกักตัวที่บ้าน ซึ่งเป็นการนำผู้ป่วยสีเขียวเข้าสู่ระบบแยกกักตัวนั้น จากการประเมินสถานการณ์ในพื้นที่แล้วพบว่า โครงการดังกล่าวมีความเหมาะสมน้อยกว่า โครงการ Community Isolation หรือการแยกกักตัวในชุมชน ที่จะมีความสะดวกและคล่องตัวต่อการบริหารจัดการสถานการณ์ได้มากกว่า ทั้งการดูแลผู้ป่วย การเข้าถึงยา และการจัดการขยะติดเชื้อ
รวมทั้งเป็นการใช้จุดแข็งของประเทศไทยที่เรียกว่า “บวร” คือ บ้าน-วัด-โรงเรียน มาร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ และเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ป่วยเอง เนื่องจากเป็นการรักษาตัวในพื้นที่ใกล้บ้าน
ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร
ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง
จังหวัดยังเปิดรับชาวลำปาง ที่ป่วยติดเชื้ออยู่ในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งเป็นจังหวัดควบคุมสูงสุด เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล กลับมารักษาที่ลำปาง ตามโครงการระบบรับคนลำปางกลับบ้าน ขอย้ำว่าเฉพาะชาวลำปาง ที่มีทะเบียนบ้านอยู่ใน จ.ลำปาง เท่านั้น ที่จะสามารถเข้าระบบ แล้วเดินทางมารักษาได้
ตั้งแต่เปิดโครงการรับคนลำปางกลับมาบ้านเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ มียอดอยู่ที่ 122 ราย แล้ว ส่วนใหญ่นอนพักรักษาตามโรงพยาบาลแต่ละภูมิลำเนาบ้านเกิดของแต่ละคน
ส่วนเตียงรองรับตามโรงพยาบาลใน จ.ลำปาง 14 แห่ง กระจายใน 13 อำเภอ ขณะนี้ยังมีเตียงรองรับผู้ป่วยที่เข้าสู่ระบบดังกล่าว รวมถึงผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ ที่พบในพื้นที่
ทางจังหวัดติดตามสถานการณ์ และประเมินอยู่ตลอดเวลาว่า โรงพยาบาลเรามี 300 เตียง สถานที่ทำโรงพยาบาลสนาม 4 แห่ง อีกกว่า 400 เตียง หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินเจอคลัสเตอร์ใหญ่ๆ ก็จะจัดโรงพยาบาลสนามขึ้นในแต่ละพื้นที่ อย่างเช่น โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จิตต์อารีฯ อ.เมือง 150 เตียง และที่โรงเรียนวังเหนือวิทยา 40 เตียง เพื่อรองรับ จะไม่ทำให้ผู้ป่วยรายใหม่ ทะลักเข้ามานอนในโรงพยาบาล
ส่วนโรงพยาบาลสนามของจังหวัด 4 แห่ง ก็เตรียมพร้อมสถานที่ไว้ สามารถเปิดใช้งานได้ทันที ตรงนี้เราจะเอาผู้ป่วยที่ไม่หนักมาก ไปพักอยู่ มีแพทย์ และพยาบาลดูแลเหมือนในโรงพยาบาล
ผู้ป่วยทั้งติดเชื้อรายใหม่ และจากระบบรับกลับมารักษาที่บ้าน จะมีการติดตามและประเมิณสถานการณ์ทุกวัน เพื่อจะได้หาสถานที่สำรองในการรักษา ล่าสุดคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดลำปาง ให้ใช้โรงแรมจัดตั้งเป็นสถานที่กักกันตัว Local Quarantine สำหรับครอบครัวที่มีความเสี่ยงสูงของผู้ป่วย ในโครงการรับคนลำปางกลับบ้าน ที่เดินทางมาส่งผู้ป่วยจากต่างจังหวัด (กรณีผู้ป่วยไม่สามารถขับรถมาเองได้) และเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ป่วยที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ลำปางที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เชื่อว่าจะเป็นสถานที่อีกแห่งที่จะรองรับการพักรักษาตัวได้อีกทาง
ไกรสร กองฉลาด
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม
ช่วงนี้พื้นที่นครพนม ยังต้องเพิ่มมาตรการเข้มในการเฝ้าระวังดูแลคัดกรองผู้ป่วยโควิดต่อเนื่อง เพราะยังมียอดผู้ป่วยเพิ่ม วันละ 30 -50 ราย แต่ไม่มีผู้ป่วยในพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงแรงงาน และผู้ป่วยติดเชื้อกลับมาจากต่างจังหวัด และประสานขอกลับมารักษาที่ภูลำเนาเกิด ซึ่งเราปฏิเสธการรักษาไม่ได้ ต้องรับกลับพื้นที่
ร่วมกับภาคเอกชนในการจัดเตรียมพื้นที่รองรับ ทั้งในโรงพยาบาล 12 อำเภอ และโรงพยาบาลสนาม รวมถึงพื้นที่กักตัวที่รัฐจัดให้ นอกจากนี้ยังมีการเปิดโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่เพิ่มอีก 2 แห่ง ใน อ.เมืองนครพนม และ อ.เรณูนคร เกือบ 30 เตียง ที่จะรองรับผู้ป่วยได้อีกจำนวนมาก
ทางจังหวัดยังมั่นใจในมาตรการรับมือ รองรับผู้ป่วยว่ามีพื้นที่รักษาเพียงพอ หากผู้ป่วยมีความประสงค์เดินทางมารักษาที่บ้าน เรามีภาคเอกชนคอยดูแล อำนวยความสะดวก ฝากประชาชนในพื้นที่ ต้องรับผิดชอบสังคมร่วมกัน หากกกลับมาจากพื้นที่เสี่ยงต้องรายงานกักตัวในพื้นที่รัฐจัดให้เท่านั้น
นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา
สถานการณ์การระบาดของโควิดใน จ.นครราชสีมา ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มอีก 137 ราย รวมผู้ป่วยสะสมระลอกใหม่นี้แล้ว 2,498 ราย รักษาหายแล้ว 1,140 ราย ยังรักษาอยู่ 1,330 ราย และเสียชีวิตสะสม 28 ราย
ขณะเดียวกันโรงพยาบาลสนาม 2 แห่ง ในอาคารชาติชายฮอลล์ และอาคารลิปตพัลลภฮอลล์ ภายในสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อ.เมืองนครราชสีมา ซึ่งรองรับผู้ป่วยได้ 252 เตียง ล่าสุดรับผู้ป่วยเข้ามารักษาใน รพ.สนามแล้ว 179 เตียง คงเหลือเตียงว่างอีก 73 เตียง
ส่วนโรงพยาบาลในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 37 แห่ง ขณะนี้รับผู้ป่วยมารักษาแล้ว 426 ราย ซึ่งมี รพ.10 แห่ง รับผู้ป่วยเต็มหมดแล้ว จึงส่งผู้ป่วยอาการเบามาที่ รพ.สนาม
อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้มีประชาชนจำนวนมากที่เดินทางมาจากจังหวัดพื้นที่เสี่ยงทั้งกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ กลับภูมิลำเนา ทางนายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าฯนครราชสีมาได้สั่งการให้ทุกอำเภอ จัดเตรียมสถานที่ทำเป็นศูนย์กักตัวชั่วคราว 14 วัน สำหรับผู้ที่เดินทางมา เพื่อป้องกันการนำเชื้อไปแพร่ให้กับครอบครัว
ส่วนผู้ติดเชื้อที่มีภูมิลำเนาอยู่ จ.นครราชสีมา ก็มีการติดต่อมายังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อขอให้ไปรับตัวเดินทางกลับมารักษาที่บ้านเกิด ซึ่งขณะนี้ รพ.ในพื้นที่ยังสามารถรับผู้ป่วยได้ ประกอบกับมีโรงพยาบาลสนามรองรับได้พอสมควร
ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายนจนถึงปัจจุบัน รับผู้ป่วยกลับไปรักษาที่บ้านเกิดแล้ว 621 ราย โดยกระจายรักษาอยู่ในโรงพยาบาลต่างๆ ตามภูมิลำเนาของผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังแจ้งให้โรงพยาบาลต่างๆ จัดหาสถานที่ใกล้เคียง ทำเป็นโรงพยาบาลสนามเพิ่มอีกด้วย กรณีที่มีผู้ป่วยอาการไม่หนัก จะได้ย้ายออกมารักษาที่โรงพยาบาลสนามแทน
นพ.พิเชษฐ พืดขุนทด
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์
จังหวัดบุรีรัมย์ประกาศรับชาวจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ติดเชื้อโควิดในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ แล้วไม่มีเตียงหรือโรงพยาบาลรับรักษา ให้โทรสายด่วน Call center 02-5765555 ตลอด 24 ชั่วโมง จะมีรถกู้อาสา ที่เตรียมไว้กว่า 60 คัน ไปรับตัวกลับมารักษาที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ตามที่นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายเนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ด หนึ่งในคณะกรรมโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ และหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดบุรีรัมย์ที่ร่วมมือกันจัดทำโครงการ “อุ้มลูกหลานเซราะกราวกลับบ้าน”
ตั้งแต่เริ่มประกาศไปเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้รับการติดต่อและเดินทางไปรับผู้ติดเชื้อมาแล้วกว่า 1,100 คน ทั้งหมดเป็นผู้ติดเชื้อที่รอเตียงทั้งสิ้น
สำหรับขั้นตอนของการรักษา ทุกคนจะต้องเข้าไปตรวจอาการเบื้องต้นที่โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ก่อน หากอาการหนักต้องรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ ถ้าอาการไม่หนักจะส่งไปรักษาตัวที่โรงแรมที่ทำเป็นโรงพยาบาลสนามในจังหวัดบุรีรัมย์ ข้อมูลล่าสุดผู้ป่วยยังคงรักษาตัวอยู่ประมาณ 800 ราย นอกนั้นหายกลับบ้านแล้ว
ก่อนหน้านี้โรงพยาบาลบุรีรัมย์ เตรียมห้องสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อกว่า 800 เตียง บวกกับโรงแรมที่ทำเป็นโรงพยาบาลสนามอีกกว่า 1,500 ห้อง รวมแล้วจะรับผู้ป่วยได้มากกว่า 2,300 ราย
เชื่อว่าจะสามารถรองรับผู้ป่วยชาวจังหวัดบุรีรัมย์ ที่จะเดินทางมาอีกได้ เนื่องจากผู้ป่วยที่หายแล้วทยอยเดินทางกลับบ้านอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจังหวัดบุรีรัมย์ จะสามารถรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิดกลับมารักษาที่บุรีรัมย์ได้อย่างแน่นอน แต่หากไม่พอ จะขยายเตียงได้อีก
ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะต้องเป็นชาวจังหวัดบุรีรัมย์ หรือมีครอบครัวที่บุรีรัมย์ จึงจะเข้าเงื่อนไขที่จะไปรับมารักษา ยืนยันรับมือได้ขอให้แจ้งผ่าน Call center 0-2576-5555 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง