ภูมิภาค
ผู้ว่าฯเมืองคอน ห่วงคลัชเตอร์หัวอิฐ หลังพบติดเชื้อแล้ว 60 ราย ยกระดับสถานที่กักตัว
วันอังคาร ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2564, 19.25 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุการประชุมหารือครั้งนี้มี 3 ประเด็นที่น่าสนใจ ประกอบด้วยการหารือในมาตรการการป้องกันโรคจากสถานการณ์การแพร่ระบาด การบริหารจัดการการฉีดวัคซีนในพื้นที่ และการพิจารณาเรื่องที่หน่วยงานเสนอขึ้นมาเพื่อให้มีมาตรการป้องกันโรคเพิ่มเติม
โดยในส่วนของมาตรการการป้องกันโรคจากการแพร่ระบาดนั้น ยังมีความห่วงในคลัชเตอร์ที่หัวอิฐ ซึ่งขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อแล้วประมาณ 60 ราย ซึ่งการปฏิบัติงานในคลัชเตอร์นี้ต่างจากคลัชเตอร์อื่นๆ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ต้องใช้สถานที่ต่อเนื่อง มีทั้งตลาดสด ตลาดพืชผล ตลาดนัด อาคารพาณิชย์ และมีธนาคารในพื้นที่ ทำให้ต้องมีการบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ มากขึ้น จำเป็นต้องมีการยกระดับ Local Quarantine (LQ) โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทุกคนต้องต้องไปอยู่ Local Quarantine (LQ) อย่างชัดเจน และหากตรวจสอบแล้วไม่พบเชื้อต้องก็ต้องอยู่กักตัวให้ครบ 14 วัน แต่หากจะไปกักตัวเอง จะทำได้ใน 2 กรณี คือ ต้องแยกห้องแยกกักตัวจากคนอื่นอย่างชัดเจน และต้องไม่มีคนอื่นอยู่ในบ้าน และต้องกักตัวให้ 14 วัน
ส่วนการบริหารวัคซีนนั้นมีการฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์และบุคลากร/เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าไปแล้วกว่า 26,000 โด๊ส จากจำนวนกลุ่มเป้าหมายกว่า 32,000 คน โดยขณะนี้ยังมีบุคลากรทางแพทย์บางส่วนยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งได้เร่งบริหารจัดการเพื่อให้เพียงพอ ทั้งกลุ่ม อสม.และบุคลากรทางการแพทย์ หากได้วัคซีนเพิ่มเติมจะจัดสรรให้สำหรับกลุ่มที่ 1 และ 2 จากนั้นจะพยายามหาเพิ่มเติมเพื่อฉีดให้ครบทั้งกลุ่มเป้าหมายกว่า 989,000 คน โดยตั้งเป้าไว้ว่าการฉีดวัคซีนเข็มแรกต้องให้จบภายใน 4 เดือน และมีการกำหนดจุดฉีดวัคซีนไว้แล้วอย่างน้อยอำเภอละ 1 จุด รวมทั้งมีแผนจัดอบรมบุคลากรทางแพทย์เพื่อมาช่วยฉีดวัคซีน มีการจัดหาสถานที่ที่มีความพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนแล้ว ประมาณ 50 จุด และหากภาคเอกชนจะมาช่วยสนับสนุนเพิ่มเติมก็พร้อมรับการสนับสนุน
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ยังได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อเตรียมการสอบสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1 และ 4 ทั้งจังหวัด โดยได้กำชับให้ดำเนินการอย่างเคร่งครัดใน 2 เรื่อง คือ นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษาที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด ควรเดินทางมาในพื้นที่ล่วงหน้าเพื่อกักตัวและตรวจเชื้อตามมาตรการ และบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงสูงหรือพื้นที่เป้าหมายควบคุมโรค จะต้องประสานทางสำนักงานสาธารณสุข ให้คำแนะนำและปฏิบัติตามมาตรการ มีการตรวจสอบก่อนเข้าห้องสอบ และมีการแยกห้องสอบเพื่อไม่ให้สัมผัสใกล้ชิดบุคคลอื่น รวมทั้งต้องมีการเตรียมพร้อมสถานที่สอบ ร้านค้า และการจราจร เพื่อไม่ให้แออัดเกินไป และทางสถานที่ศึกษาที่จะเปิดทำการเรียนการสอย ต้องดำเนินการเพิ่มเติม 3 มาตรการ คือการกักกลุ่มเสี่ยง อนุญาตให้มีการสุ่มตรวจนักเรียน และต้องมีการประเมินความพร้อมของสถานศึกษาก่อนเปิดเรียนอย่างน้อย 3-5 วัน โดยให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งจังหวัด
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่